สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี 2567 มีการคาดการณ์ว่า จะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก ด้วยแรงส่งสำคัญจากอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed กำลังกลับตัวเข้าสู่วัฏจักรขาลง ซึ่งหนุนนำให้ Fund Flow มีการเคลื่อนย้ายออกจากสหรัฐ ไปยังประเทศอื่นที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า รวมถึงทำให้เกิดการกระจายเม็ดเงินสู่กองทุน และหุ้นมากขึ้น เช่นเดียวกับทางประเทศไทยที่ได้รับอานิสงส์จากตรงนี้ ส่งผลให้ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าต่อเนื่อง และมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นสุทธิไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 7.6% ในเดือนก.ย.นี้ เทียบจากเดือนก่อน
แต่อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่แข็งค่าขึ้น 3.8% นับตั้งแต่ต้นปี รวมถึงกลไกของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่จะมีการทยอยลดดอกเบี้ยลงตาม Fed เพื่อรองรับสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ก็เป็นดาบสองคมที่ส่งผลต่อความสามารถของภาคการส่งออกไทยที่ลดลง กระทบต่อไปยังภาคการผลิต และภาคธุรกิจไทย ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง สอดคล้องกับที่ทาง SCB EIC วิเคราะห์ว่าปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้ากว่าโลก ที่ GDP 2.6% ซึ่งเป็นการชะลอตัวแบบ Soft Landing หรือไม่ในกรณี Worst Case ก็อาจเผชิญกับปัจจัยด้านลบทะยานลงสู่ 1.9% ได้เช่นกัน
ฉะนั้น การเรียกความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพื่อให้เศรษฐกิจไทยยังทรงตัวอยู่ในลักษณะ Soft Landing ต่อไปได้ โดยต้องอาศัยการผลักดันจากทางภาครัฐ เพื่อเข้ามาอุ้มและกระตุ้นอุปสงค์ในภาคเศรษฐกิจหลัก ดังเช่น กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง กองทุนรวมผสม ที่บริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์กองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์กองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐบาลแทนกระทรวงการคลัง และเป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยการเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ
โดยความพิเศษของกองทุนนี้ จะเป็นการช่วยลดการใช้งบประมาณแผ่นดินลง และแทนที่ด้วยเม็ดเงินลงทุน ที่เปิดให้ประชาชนและนักลงทุนสถาบันได้เข้ามาลงทุน ด้วยแรงดึงดูดของโอกาสได้ผลตอบแทน 3-9% (มีกลไกชัดเจนให้ได้ผลตอบแทนขั้นต่ำ 3%) ที่มีนโยบายการลงทุนทั้งแบบเชิงรุก ทำผลตอบแทนเอาชนะตลาด และเชิงรับ ทำผลตอบแทนใกล้เคียงตลาด โดยเน้นลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลักที่ 88.36% (ที่เหลือ ลงทุนในพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 7.01% ตั๋วเงินคลัง 1.48% เงินฝากธนาคาร 1.07% หุ้นกู้ 0.62%) ซึ่งนับเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุนในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยกำลังเข้าสู่ขาลง และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับตลาดทุนไทยที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศอีกด้วย
โดยในเดือน ก.ย. 2567 รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ซึ่งเป็นการเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ที่เสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบัน จำนวนหน่วยลงทุนเสนอขาย 15,000 ล้านหน่วย ที่ราคาเสนอขายหน่วยละ 10 บาท รวมมูลค่าประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศ นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนรายย่อยดังกล่าว ในสัดส่วนการเสนอขาย 30,000-50,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นผู้ลงทุนสถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม อาทิ ธนาคารพาณิชย์, บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย, กองทุนประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ อีก 100,000-120,000 ล้านบาท
โดยการที่เปิดช่องทางให้กับนักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกองทุนดังกล่าว นับเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ในการส่งเสริมตลาดทุนไทยให้สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว ซึ่งในส่วนของภาคเอกชน อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทย่อยของ SCBX ก็ได้มีส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนขีดความสามารถของตลาดทุนไทย ด้วยการเข้าซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ด้วยเงินสดจากการดำเนินงานของธนาคารมูลค่าถึง 9,234 ล้านบาท โดยทำรายการไปเมื่อ 26 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา
โดยหน่วยลงทุนประเภท ก. นี้ หลังจากเพิ่มทุนเสร็จแล้ว จะมีการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในวันที่ 7 ต.ค. 2567 เท่ากับว่ากำลังจะมีเม็ดเงินก้อนใหญ่กว่า 150,000 ล้านบาท เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ อันเป็นการผลักดันการเติบโต Demand ในประเทศ ที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติกลับมายังตลาดหุ้นไทย ตรงตามความตั้งใจของทางคณะกรรมการ SCBX ที่ได้อนุมัติลงทุนในกองทุนนี้ โดยมองว่า กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง จะเป็นกองทุนรวมที่ฟื้นฟูและเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยการลงทุนของธนาคารไทยพาณิชย์ จะเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นสภาวะตลาดทุนของประเทศให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวเด่น