แบงก์-นอนแบงก์
Scoop : "Virtual Bank" ธนาคารไร้สาขา เปลี่ยนผ่านภาคการเงินไทยสู่ยุคดิจิทัล


ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่นับวันยิ่งมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนผ่านไปยังโลกดิจิทัลนั้น ไม่ว่าจะมีสินค้าและบริการอะไรก็ตาม ก็ต่างยึดโยงกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นฐานกำเนิดที่สามารถส่งต่อทั้งประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ การประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่การบริการ “ทุก ๆ อย่าง” จะเกิดขึ้นในโลกดิจิทัลเท่านั้น
 
ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ยังคงให้บริการทางการเงินเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบปัจจุบัน แต่ความแตกต่างคือ ด้วย Concept ของการเป็น “ธนาคารในโลกเสมือน” ที่ การทำธุรกรรม การให้บริการทั้งหมด จะผ่านช่องทางดิจิทัลทุกกระบวนการ 100% หรือก็คือไม่ว่าเราจะใช้บริการทางการเงินรูปแบบไหน ก็จะเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งสิ้น ไม่มีการ Walk In ไปยังธนาคารสาขาเหมือนปกติ เพราะ Virtual Bank ไม่มีสำนักงานสาขา ไม่มีตู้ ATM ด้วย (มีเพียงสำนักงานใหญ่ที่แสดงถึงการเป็นผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ที่ตั้งอยู่บนโลกความเป็นจริง) เช่น ลูกค้า สามารถมีบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องมีสมุดคู่ฝาก ด้วยการเปิดบัญชีได้ง่าย ๆ ผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรงอย่างเดียว
 
โดยข้อดีของ Virtual Bank คือ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานบริการให้กับลูกค้าจะเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว เพราะจะมีระบบปฏิบัติการณ์ AI เข้ามาดูแล ทั้งการที่เจ้าของบัญชีสามารถแบ่งบัญชีออกเป็นบัญชีย่อยได้ตามวัตถุประสงค์ในการฝากเงิน มีการแนะนำการออมและการใช้จ่ายให้เหมาะกับพฤติกรรมของเจ้าของบัญชี ทำการขอสินเชื่อโดยผู้กู้ไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ ไม่มีภาระที่ต้องเตรียมเอกสาร และมีการอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็ว ในส่วนคนที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ก็สามารถเชื่อมบัญชีเงินฝากที่เปิดในนี้เข้ากับระบบทำบัญชีทางออนไลน์ได้ เป็นต้น
 
และจากลักษณะเฉพาะของ Virtual Bank ที่ไม่ต้องรองรับค่าใช้จ่ายจากการบริหารสาขา ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบเดิม ฉะนั้นจึงส่งผลให้มีค่าธรรมเนียมต่ำ ได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป และอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นรายวัน และยังมีทุนที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ได้อย่างหลากหลายกว่าเก่า สอดรับตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล อันเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์และนำส่งผลิตภัณฑ์การเงินเสริมแบบใหม่ ๆ ที่ทำให้การบริหารการเงินของลูกค้าและระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
 
โดยทางภาคการเงินของไทย ก็กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของ Virtual Bank จากที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ผ่านช่องทางดิจิทัลไปเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุด กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา มายัง ธปท. จนถึงวันที่ 19 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยจะทำการพิจารณาคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank ของผู้ขออนุญาต ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลัง โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวมและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ก่อนเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป
 
จากกระบวนการข้างต้น มีผู้ยื่นคำขอจำนวนทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่

บมจ.เอสซีบี เอกซ์ SCBX จับมือกับ KakaoBank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ และ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน

GULF ร่วมกับ AIS ธนาคารกรุงไทย และ OR

Sea Group ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ กลุ่ม BTS เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย

• กลุ่มทรู Ascend Money (TrueMoney) บริษัทในเครือของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) จับมือ Ant Group เป็นบริษัทในเครือ Alibaba จากจีน 

กลุ่ม ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ร่วมกับ Lightnet Group และ WeLab
 
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในช่วงกลางปี 2568 แต่อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท.ได้เคยมีกำหนดว่า จะมีจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) ไม่เกิน 3 รายเท่านั้น เพราะหากมีผู้เล่นมากเกินไปอาจเกิดความเสี่ยง ดังนั้นในระยะเริ่มต้นเพียง 3 ราย จึงเป็นจำนวนที่ดูแลทั่วถึง และปลอดภัยกว่า ขณะที่กระทรวงการคลัง ต้องการให้มีผู้เล่นจำนวนมากกว่า เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในธุรกิจ Virtual Bank ในอนาคต
 
ทั้งนี้ จากผู้ยื่นคำขอทั้ง 5 รายข้างต้น มีทั้งผู้ประกอบกิจการจากภาคส่วนสถาบันการเงิน ที่มากประสบกาณ์ทั้ง 3 ราย ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ และการขยับตัวของธุรกิจสื่อสาร ผู้ให้บริการด้านพลังงาน โครงสร้างสาธารณูปโภค รวมถึงผู้ให้บริการ Digital Payment Platform ในเครือ CP ที่โดดเด่นในความเป็น Digital Lending เข้ามาจัดทัพเพื่อการได้เข้ามาประกอบธุรกิจ Virtual Bank เป็นยุคแรกของไทย ซึ่งก็คงต้องจับตารอดูว่าสุดท้ายแล้ว ใครบ้างจะมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้ “ไลเซนส์” จาก ธปท. ไป

LastUpdate 28/09/2567 19:28:13 โดย : Admin
11-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 11, 2025, 4:20 am