การตลาด
Scoop : ถอดบทเรียนจาก "หมูเด้ง" ลูกฮิปโปแห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ที่เป็นกระแสดังไกลทั่วโลก


เรียกได้ว่านาทีนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก "หมูเด้ง" ลูกฮิปโปแคระเพศเมีย อายุ 2 เดือน จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ที่กำลังเป็น Viral โด่งดังไปทั่วโลก อีกทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้อย่างมากเลยทีเดียว ซึ่งเบื้องหลังการประสบความสำเร็จนี้ล้วนมีที่มาจากเทคนิคของ “Storytelling” ผนวกรวมเข้ากับการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ในการเผยแพร่คอนเทนต์ของหมูเด้ง ให้เกิดความรู้สึกร่วมและสร้างความผูกพันกับผู้คนบนโลกออนไลน์ จนกลายเป็นที่พูดถึงเป็นวงกว้างในทุกวงการ ที่ต่อยอดเอาไปทำเป็น Meme และคอนเทนต์ต่าง ๆ ทำให้กระแสของหมูเด้งยิ่งแผ่ขยายออกไปอย่างฉุดไม่อยู่
 
โดยจุดกำเนิดของเจ้าเซเลปหมูเด้งนั้น เริ่มต้นจากช่องทางเพจบนโซเชียลมีเดียในชื่อ “ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง” ที่มีการพยายามเล่าเรื่องราวของสัตว์ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียวให้มีความน่าสนใจ ด้วยแนวคิดที่ “พาสวนสัตว์ไปหาคน” จากช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สวนสัตว์ถูกปิด โดยสัตว์ที่เป็นเครือญาติฮิปโป ทาง นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า เป็นคอนเทนต์ที่ผู้คนตอบรับและมี Engagment มากที่สุด โดยในช่วงแรก ๆ จะดาวเด่นคือ “ขาหมู” ฮิปโปโปเตมัส ที่ทางสวนสัตว์ได้สร้างคอนเทนต์เพื่อดึงดูดความสนใจ ที่สวนสัตว์ยังต้องปิดตัวอยู่ กับการให้ขาหมูทายศึกฟุตบอลยูโร 2020 ในรอบรองชนะเลิศ จนกระทั่งมาเปิดสวนสัตว์อีกครั้ง ก็มีคนมาให้ความสนใจกับ “หมูตุ๋น” ซึ่งเป็นพี่ของ “หมูเด้ง” ก่อนที่หมูเด้งจะมาได้รับความนิยมในปัจจุบัน
 
นายอรรถพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุก ๆ ลูกสัตว์ที่เกิดใหม่ ทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยจะให้ข่าวสารแก่ประชาชน และสื่อมวลชนไทย มามีส่วนร่วมในการโหวตคัดเลือกชื่อเป็นปกติ และจะได้รับการติดตามจากสื่อประมาณ 7 วัน จากนั้นกระแสจะเริ่มซาลงไป และทางด้านนายอรรถพล หนุนดี ผู้ดูแลและถ่ายทอดเรื่องราวของหมูเด้ง ก็ให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมของลูกฮิปโป รวมถึงหมูเด้งก็ไม่ได้แตกต่างจากฮิปโปแคระตัวอื่น แต่อาจเป็นเพราะการพยายามถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตประจำวันของหมูเด้ง ที่ผู้ดูแลมีประสบการณ์และรู้จักนิสัยของฮิปโปแคระ จากที่มีประสบการณ์เลี้ยงมาแล้ว 4 ตัว ทำให้รู้ว่า ธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้จะวิ่งเล่นตอนไหน คาดเดาพฤติกรรมถูก จึงมีการเตรียมกล้องไว้ถ่าย ซึ่งสามารถถ่ายทอดได้ทันในทุกอริยาบท
 
ตรงนี้เองจึงสอดคล้องกับกลยุทธ์ของการสร้างคาแรคเตอร์ หรือ Brand Personality ในหลักการตลาดที่มีความชัดเจน ผู้คนในสื่อโซเชียลรับรู้ถึงนิสัย และความน่ารัก ประกอบกับ ลักษณะทางกายภาพของหมูเด้งที่ยังเป็นทารก ซึ่งส่งผลทางด้านจิตวิทยาให้คนรู้สึกเอ็นดูรักใคร่ จึงเกิดความผูกพันธ์ เกิดแฟนคลับอย่างมากมาย หรือในภาษาอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า “โดนตก” และการที่ช่องทางการเผยแพร่อยู่บนสื่อโซเชียลมีเดีย จึงมีการแชร์ เผยแพร่ออกเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้หมด ตั้งแต่คนไทยด้วยกัน ลามไปจนถึงฝั่งญี่ปุ่น ที่ได้อานิสงส์จาก สวนสัตว์เปิดเขาเขียวอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ และด้วยค่านิยมที่ชื่นชอบสัตว์ ทำให้เจ้าหมูเด้งเป็นที่พูดถึงในญี่ปุ่น จนมีสื่อจากทางญี่ปุ่นเข้ามาถ่ายทำ และจุดกระแสต่อไปยังชาติอื่น ๆ จนเรียกได้ว่าตอนนี้หมูเด้งกลายเป็นเซเลประดับโลกไปแล้ว

 
โดยการเป็นกระแสของหมูเด้ง ที่มีคนชื่นชอบอย่างล้นหลามในโซเชียลมีเดีย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้คนในโลกอินเตอร์เน็ต ที่มีลักษณะเป็นผู้รับสาร และผลิตสารได้ ก็เกิดการต่อยอดคอนเทนต์ของหมูเด้ง ด้วยการเอามาทำเป็นมีม หรือ “Meme Culture” ในหลากหลายสังคม มีการเกาะกระแสในเพจต่าง ๆ และแวดวงธุรกิจ ซึ่งเป็นการทำ Real-time Marketing เพื่อดึงยอด Engagement เกาะกระแสของหมูเด้งไปด้วย เช่น มีการพูดถึงหมูเด้งในแวดวงกีฬา ภาพยนตร์ รวมถึงในฝั่ง Digital Asset ก็ยังมีคนอ้างอิงชื่อหมูเด้งไปทำเป็นเหรียญคริปโตกันเลยทีเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นลักษณะของการเกิดเป็น “User Generate Content” ที่ผู้คนในอินเตอร์เน็ตมีการ Generate คอนเทนต์ของหมูเด้งด้วยตัวเอง กลายเป็น Earn Media ที่ทางสวนสัตว์เปิดเขาเขียวและประเทศไทยได้รับการทำ Pr ฟรีอย่างไม่ต้องเสียงบประมาณใดๆ
 

Meme หมูเด้ง จากวงการกีฬา UFC
 
เรียกได้ว่าเป็นกรณีศึกษาชั้นดี ในมุมมองของการทำการตลาดหรือการสร้างแบรนด์ ด้วยจุดขายคือการสร้างคาแรคเตอร์ให้ชัดเจน และทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ความผูกพัน และความคลั่งไคล้ ที่จะทำให้ผู้บริโภคกลายเป็นกระบอกเสียงให้กับแบรนด์ และเผยแพร่การมีอยู่ของธุรกิจออกสู่วงกว้างอย่างเต็มใจ จนกลายเป็นกระแสที่ส่งผลดีต่อแบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับกรณีของ “น้องหมีเนย” หรือ Butterbear ที่สามารถถ่ายทอดคุณค่าเฉพาะของแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ และมีเพียงหนึ่งเดียวได้เช่นกัน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ก.ย. 2567 เวลา : 19:59:50
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 3:29 pm