นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 เปิดตัวต่อสื่อมวลชนครั้งแรก เผยแผนงานเตรียมสร้างตลาดหุ้นไทยให้เป็น 'ตลาดทุนเพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม' ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการเสนอเข้าบอร์ด คาดประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายเดือน พ.ย.67 นี้
วันพุธที่ 2 ต.ค. 2567 - กรุงเทพฯ นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานต่อไปของตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วง 3 ปี ข้างหน้า (2568-2570) ในงาน “Meet the Press ทำความรู้จัก กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 อัสสเดช คงสิริ” ว่า จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทย ให้เป็นตลาดลงทุนเพื่อส่วนรวม ที่จับมือร่วมงานกับองค์กรในทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ตลาดทุนไทยได้สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และมีผลดีกับ Supply Chain ในประเทศไทยทั้งหมด นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เป็นตลาดลงทุนมีความเท่าเทียม ด้วยการเชื่อมโอกาสในการลงทุน เข้ากับนักลงทุนในทุกระดับ เสริมสร้างความรู้ด้านการเงินและออกมาตรการดูแลเพื่อประกันความเสี่ยงในการลงทุน ส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างเท่าเทียมด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และผลักดันให้บล.เพิ่มมูลค่าตัวเอง อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างชาติที่ส่งผลดีต่อตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน
โดยการพัฒนาให้ตลาดทุนไทยกลายเป็นตลาดเพื่อส่วนรวมและมีความเท่าเทียมนั้น จะประกอบไปด้วยหลักการสำคัญ ดังนี้
1.ความเท่าเทียม (Fairness) สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับนักลงทุนทุกกลุ่ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่การให้ความรู้การเงิน Financial Literacy กับนักลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ดังเช่นที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการร่วมมือกับ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในหลากหลายโครงการ อย่าง “3 Lines of Defense แนวป้องกันเพื่อบริษัทจดทะเบียนเข้มแข็ง” สนับสนุนให้กรรมการ กรรมการอิสระ ผู้บริหารบล. ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนความรู้หลักการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับนักลงทุน เป็นต้น
ส่วนประเด็นความไม่เท่าเทียมในปัจจุบัน เช่นเรื่อง การปั่นราคาหุ้น ก็ได้มีการออกมาตรการร่วมกับทาง กลต.ที่ล่าสุด ได้มีการกำหนดกรอบเคลื่อนไหวของราคาซื้อ-ขายหลักทรัพย์ระหว่างวัน หรือ Dynamic Price Band (DPB) เป็นตัวช่วยไม่ให้เกิดความผันผวนของราคาที่ผิดปกติ ส่วนในกรณีที่เจ้าของหรือผู้บริหารมีการนำหุ้นไปจำนำ เพื่อเพิ่มวงเงินในการเทรดหรือการกู้ จะมีการหารือกับทางกลต. และออกมาตรการในการ Disclosure หรือการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส เพื่อประโยชน์ของนักลงทุนในระยะต่อไป
ในขณะเดียวกัน ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการสอดส่อง และตรวจสอบพฤติกรรมของนักลงทุน และสถานการณ์ของตลาด เพื่อคอยออกมาตรการหรือให้ความรู้ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เกิดพฤติกรรมในตลาดที่ไม่เหมาะสมน้อยลง อันเป็นความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับทางด้านนักลงทุนรายย่อย
2.เข้าถึง ทั่วถึง (Inclusiveness) เอื้ออำนวยให้นักลงทุนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงการลงทุนในหุ้นไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี เข้ามาพัฒนาในระบบนิเวศของตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น การเชื่อมโยงระหว่างโอกาสการลงทุน กับตัวของนักลงทุน ที่จำเป็นต้องมี Stakeholders หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลายภาคส่วนเข้ามาเป็นตัวผสาน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนที่จะสร้างความเท่าเทียมโดยการนำพัฒนาการของเทคโนโลยี มาช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มของบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถเข้าถึงนักลงทุนรายย่อยได้อย่างทั่วถึง ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม มีกำไรในการทำธุรกิจมากขึ้น
3.ตอบโจทย์อนาคต แข่งขันได้ (Re-imagine) เป็นการออกจากกรอบความคิดเดิม เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันในอนาคตได้ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับก้าวร่วมไปกับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดย 1 ในแผนที่กำลังเสนอเข้าสู่บอร์ด คือการพัฒนา UX-UI ของเว็บไซต์ ให้ง่ายต่อการค้นหาข้อมูลมากขึ้น โดยอาจมีการใช้ AI เข้ามาร่วมพัฒนาในการจัดการข้อมูล ให้นักลงทุนหาข้อมูลได้สะดวก และรับข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการทำ Re-balance เพื่อรักษาความเท่าเทียมต่อสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคตควบคู่ไปด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อความสมดุลของความเท่าเทียมในตลาดได้
4.รับโอกาสและความท้าทายจากกระแสความยั่งยืน (Sustainability) สร้างความสมดุลอย่างเหมาะสมให้กับบริษัทจดทะเบียน และตลาดทุน จากการมุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยนายอัสสเดช ได้เปิดเผยวิสัยทัศน์ในส่วนนี้ว่า
“โดยบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯคือการไม่หยุดพัฒนา มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา ต้องคอยติดตามประสิทธิภาพและประสิทธิผลว่าสำเร็จตามผลที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯต้องการจริงหรือไม่ หรือว่ามาตรการที่ออกไปแล้วมันทำให้ลดทอนสิ่งที่ดีอยู่แล้วหรือเปล่า เช่น อาจมีนักลงทุนบางกลุ่มมองว่า มาตรการที่ออกมานั้นเยอะไปแล้วหรือเปล่า และเนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ หน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์คือการคอยพัฒนา เฝ้าระวัง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมอย่างสมดุล ไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่เฉย ๆ ได้ เช่น การเปรียบเทียบ หรือ Benchmark ตลาดไทยเข้ากับตลาดต่างประเทศนั้น เราไม่สามารถเอาตัวเองไปเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อย่าง New York Stock Exchange (NYSE) ได้ เนื่องจากมีการพัฒนาในระยะเวลาที่ไม่เท่าเทียมกัน ควรไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า ว่ามีการเปลี่ยนและพัฒนาอะไรบ้าง เป็นต้น”
5.เสริมความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย (Trust & Confidence) ผลักดันให้ความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยที่ลดลงไปนั้นเพิ่มขึ้นมา ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ลงทุน รวมถึงการหาแนวทางการลดความเสี่ยงต่างๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น การเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในการออก IPO ที่เข้มงวดมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2568 เพื่อสร้างความเข้มแข็งของบริษัทจดทะเบียนและเตรียมพร้อมก่อนเข้าตลาดทุน
นอกจากนี้จะมีแผนยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มมูลค่าของบริษัท ทั้งการออกโปรแกรมสนับสนุนให้บริษัททำกำไรของบริษัทต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) และทำให้ Balance Sheet ของบริษัทจดทะเบียนมีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งจะมีการร่วมมือกับทางภาครัฐในหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อทำให้บริษัทจดทะเบียนเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ผลตอบแทนกับผู้ลงทุนที่ดี เป็นการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาอย่างยั่งยืน
โดยแผนงานดังกล่าวที่จะมีการดำเนินงานในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนงาน เพื่อนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมต่อคณะกรรมการในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมอย่างเป็นทางการได้ภายในช่วงปลายเดือน พ.ย.67
ข่าวเด่น