สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทพลิกอ่อนค่าแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ หลังทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนในช่วงปลายเดือนก.ย.
เงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนที่ 32.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 0.25% อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกทยอยอ่อนค่าไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ (อ่อนค่าสุดนับตั้งแต่ 20 ก.ย. 2567) ตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย และสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นหลังประธานเฟดส่งสัญญาณไม่เร่งลดดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ยังคงมีความไม่แน่นอนว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขนาดที่มากกว่า 0.25% หรือไม่ในการประชุมเดือนพ.ย.นี้ ประกอบกับมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด (อาทิ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนรายงานโดย ADP และดัชนี ISM ภาคบริการเดือนก.ย.) และจากแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดในตะวันออกกลาง
• ในวันศุกร์ที่ 4 ต.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.04 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 ก.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-4 ต.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 11,829 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 14,184 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 14,179 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5 ล้านบาท)
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 7-11 ต.ค. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.50-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองผู้บริโภคเดือนต.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามรายงานการประชุมเฟดเมื่อ 17-18 ก.ย. และสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดีดตัวขึ้นในช่วงแรกตามปัจจัยบวกในประเทศ ก่อนจะร่วงลงในเวลาต่อมาตามปัจจัยลบจากต่างประเทศ
หุ้นไทยแกว่งตัวกรอบแคบในช่วงแรกก่อนจะดีดตัวขึ้นแรงในวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่กองทุนวายุภักษ์ทยอยเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นแรงซื้อหุ้นหลายกลุ่ม นำโดย กลุ่มแบงก์และเทคโนโลยี นอกจากนี้หุ้นไทยยังมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากประเด็นข่าวที่ บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศเข้าลงทุนในประเทศไทยด้วยวงเงินที่ค่อนข้างสูง
หุ้นไทยพลิกร่วงตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น และกลุ่มเทคโนโลยีจากประเด็นข่าวควบรวมกิจการระหว่างบริษัทผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมและบริษัทด้านพลังงาน
• ในวันศุกร์ที่ 4 ต.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,444.25 จุด ลดลง 0.41% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 56,991.12 ล้านบาท ลดลง 0.66% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.10% มาปิดที่ระดับ 343.54 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (7-11 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,425 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,475 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ย. ข้อมูลการนำเข้าและส่งออกเดือนส.ค. บันทึกการประชุมเฟด (17-18 ก.ย.) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ย. ของญี่ปุ่น และยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ของยูโรโซน
ข่าวเด่น