เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : ไทยเตรียมตัวเป็น "คลังอาหารของโลก" โอกาสสำคัญของ เกษตรกร - ผู้ประกอบการ


 

ประเทศไทย จัดได้ว่ามีภาคบริการและภาคการเกษตร เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้นการส่งเสริมผลักดันอย่างตรงจุด ที่ทำให้สองภาคส่วนนี้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น จะเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยทั้งระบบได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งหมุดหมายของทางกระทรวงพาณิชย์ ที่กำลังเตรียมวางให้ประเทศ ไทยเป็น “คลังอาหารของโลก” จึงเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ไทยจะได้ Set Position ของตัวเองใหม่ ให้กลายเป็นผู้มีบทบาทหลักและมีอำนาจในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลก ในยุคที่ ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) หรือการเปลี่ยนขั้วอำนาจกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
 

จากการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย Asia Cooperation Dialogue หรือ ACD Summit ครั้งที่ 3 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงบทบาทผู้นำของประเทศไทยในที่ประชุม เนื่องด้วยในศตวรรษที่ 21 นี้ ถือได้ว่าเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย ที่ประชาชนชาวเอเชียมีจำนวนกว่าร้อยละ 60 ของประชากรทั้งโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ และพลังงาน แต่จากการที่สถานการณ์โลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน เช่น การปรับตัวตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสถานการณ์ความไม่สงบในบริเวณกลุ่มประเทศของพื้นที่ทางตะวันออกกลาง ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงในปัจจุบันนี้ ทำให้เรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ที่เปรียบได้กับเป็นแหล่งพลังงานของโลก มีความสำคัญอย่างมากที่ต้องมีการรักษาเสถียรภาพเอาไว้
 
โดยในฐานะที่ประเทศไทย มีจุดแข็งด้านการเกษตรและอาหาร ทางนายกรัฐมนตรี แพทองธาร จึงได้แสดงวิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงทางอาหาร ที่เสนอประเทศไทย เป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร ทั้งสินค้าเกษตร และอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน เพื่อจำหน่าย อีกทั้งเก็บรักษา พร้อมส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศทางตะวันออกกลางทันทีภายใน 24 ชั่วโมง หากสถานการณ์ความขัดแย้งมีความรุนแรง หรือเกิดการขาดแคลนขึ้น ซึ่งไทยจะตั้งตนสร้างความมั่นใจว่ากลุ่มประเทศดังกล่าวจะไม่ขาดแคลนอาหาร ทำให้การเสนอนี้ มีประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางให้ความสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), กาตาร์, คูเวต และ โอมาน เป็นต้น
 
โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีการมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์สานต่อความร่วมมือด้านการสร้างคลังอาหารให้กับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพื่อรับมือกับความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security ให้สำเร็จ ซึ่งทางนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีโอกาสหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจยูเออี และโอมาน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยได้แสดงความพร้อมที่จะผลิตและเป็นคลังอาหารให้แก่ทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว ได้แสดงความสนใจ รวมถึงสนใจการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ยูเออีในโอกาสแรก นอกจากนี้ ฝ่ายโอมานแสดงความประสงค์ที่จะจัดทำความตกลงคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนอีกด้วย 
 
“กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของท่านนายกฯ ซึ่งได้เชิญชวน และแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นคลังอาหารให้กับประเทศตะวันออกกลาง โดยในการหารือทวิภาคีวงต่างๆ ระหว่างผมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ก็ได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของไทยในการผลิตอาหารและการมีสินค้าฮาลาลคุณภาพสูง โดยประเทศต่าง ๆ มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย และใช้ไทยเป็นคลังอาหารเพื่อจัดหาและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อเสริมความมั่นคงทางอาหาร” นายพิชัยกล่าว
 
โดยในการที่ทางกระทรวงพาณิชย์ ได้กำลังดำเนินการผลักดันให้ไทย กลายเป็นคลังอาหารของโลก ซึ่งเริ่มต้นจากการตั้งตัวเป็นคลังอาหารให้กับทางตะวันออกกลางก่อน จากการตกลงความร่วมมือในการประชุม ACD ครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายทางการค้า ที่ทำให้ไทยเสริมความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก และเนื่องด้วยประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์สำคัญที่เชื่อมต่อโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก การที่ไทยได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิก ACD ร่วมลงทุนพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่ๆ จะเป็นการเชื่อมต่อและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม ที่นำร่องพัฒนาไปสู่บทบาทของการเป็น คลังอาหารของ “ทั้งโลก” อย่างเต็มตัวในอนาคต
 
และจากการผลักดันการเป็นผู้ผลิตอาหารให้กับประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญให้กับเกษตรกรไทย และผู้ประกอบการไทยโดยตรง เพราะในบริบทของเกษตรกรที่จะมีแหล่งตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากการเชิญชวนให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรในไทยแล้วนั้น ภาคการเกษตร ยังมีความยึดโยงกับภาคบริการ ทั้ง Traditional Services เช่น ภาคการค้าและการท่องเที่ยว และ Modern Services เช่น บริการขนส่ง บริการโทรคมนาคม บริการทางการเงิน และบริการทางธุรกิจอื่นๆ ที่ภาคบริการดังกล่าวทั้งหมดจะขยายตัวได้ดีขึ้น หากภาคการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมมีทิศทางการเติบโตดี เพราะจะทำให้ธุรกิจมีความต้องการในสินค้าภาคบริการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย (Derived Demand) ดังนั้น การที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่บทบาทของการเป็นคลังอาหารของโลกนี้ นับว่าเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยที่พร้อมก้าวเข้าสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ต.ค. 2567 เวลา : 18:43:30
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:51 pm