เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 3/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 7.40%YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลการสำรวจของ Bloomberg ที่ 6.1% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2567 ที่ 7.09%YoY โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ปัจจัยหนุนจากการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนค่อนข้างทรงตัว โดยการส่งออกเติบโตที่ระดับ 15.3%YoY ในไตรมาสที่ 3 เร่งตัวขึ้นจาก 13.9%YoY ในไตรมาสที่ 2 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องจักรและสินค้าเกษตร ประกอบกับการนำเข้าที่ชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีการผลิตของภาคอุตสาหกรรมก็เติบโตเร่งขึ้นมาที่ระดับ 10.5%YoY ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสะท้อนการเร่งการผลิตเพื่อตอบโจทย์การส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือน แม้ว่ายอดค้าปลีกจะเติบโตชะลอลงในไตรมาสที่ 3 แต่อัตราเงินเฟ้อก็ชะลอตัวลงในอัตราใกล้เคียงกัน ส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนค่อนข้างทรงตัว
ปัจจัยฉุดจากการชะลอตัวของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งขยายตัวเพียง 0.3%YoY ในไตรมาสที่ 3 ชะลอลงจาก 3.2%YoY ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากกระแสการปราบปรามการคอร์รัปชันในเวียดนามที่ทำให้การอนุมัติโครงการรวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนภาครัฐเกิดความล่าช้า
• การส่งออกเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องจักร และสินค้าเกษตร ส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เติบโตชะลอลง การชะลอลงของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ (1) มาตรการตอบโต้การการทุ่มตลาดและการอุดหนุนของสหรัฐต่อการส่งออกแผงโซลาร์ของเวียดนาม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเวียดนามพึ่งพาการส่งออกแผงโซลาร์คิดเป็นสัดส่วน 2.0% ของการส่งออกรวม และ (2) ผลกระทบของพายุไต้ฝุ่นยางิที่สร้างความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเมืองไฮฟอง และจังหวัด Quang Ninh ซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามเหนือ
• ทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่เหลือของปี 2567 คาดว่าจะเติบโตชะลอลงจาก 9 เดือนแรกที่เติบโต 6.75%YoY จากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลงจากปัจจัยฐานสูงในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน ประกอบกับผลกระทบเชิงลบของพายุไต้ฝุ่นยางิต่อภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เวียดนามเหนือ โดยหลัก ๆ คือเมืองไฮฟองและจังหวัด Quang Ninh แต่ก็รวมถึงกรุงฮานอย จังหวัด Bac Ninh, Bac Giang และ Thai Nguyen ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 55% ของการส่งออกรวมของเวียดนาม ทั้งนี้ การส่งออกที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3 มองว่ามาจากการใช้สต็อกสินค้าที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการเร่งการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดการณ์เดิมมาอยู่ที่ 6.6% จาก 6.0% จากตัวเลขเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 3/2567 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดค่อนข้างมาก จากการฟื้นตัวของการส่งออกซึ่งมีการปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2024 มาอยู่ที่ระดับ 12.6% จากเดิม 7.5%
• อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้สินอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามที่ยังไม่คลี่คลาย ธนาคารกลางเวียดนามได้ขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ออกไปจนถึง 31 ธ.ค. 2567 ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ ในขณะที่ สัดส่วน NPL ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากหนี้เสียภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ปัญหาหนี้เสียได้ส่งผลให้ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นและส่งผลให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว
ข่าวเด่น