อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. อยู่ที่ 0.61%YoY ขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 0.35%YoY ในเดือนก่อน ตามราคาผักสดและผลไม้สดที่ปรับตัวขึ้นตามปัญหาอุทกภัย อีกทั้งผลของฐานต่ำในปีก่อนจากมาตรการบรรเทาภาระรายจ่ายพลังงาน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.77%YoY สูงกว่าเดือนก่อนเล็กน้อย จากราคาอาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.20%YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.48%YoY
อย่างไรก็ตาม โมเมนตัมการปรับตัวของราคาสินค้าเทียบรายเดือนยังแผ่วลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 0.10%MoM ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของตะกร้าเงินเฟ้อยังทรงตัวต่ำ สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ นักวิเคราะห์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2567 และ 2568 จะอยู่ที่ 0.7% และ 1.6% ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจสนับสนุนให้ กนง. มีท่าทีผ่อนคลายต่อการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. อยู่ที่ 0.61% ขยับขึ้นเล็กน้อย ตามราคาอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นหลัก จากผลกระทบของภาวะน้ำท่วม
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. แตะระดับ 0.61%YoY เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายปี จาก 0.35%YoY ในเดือนก่อน แต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งมองไว้ที่ 0.8% ปัจจัยหลักส่งผลต่อการขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้มาจากราคาอาหารสดที่ขยายตัว 2.31%YoY สูงขึ้นจาก 1.93%YoY เมื่อเดือนก่อน ตามราคาผักสดและผลไม้สดที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ ประกอบกับราคาหมวดพลังงานหดตัวน้อยลงที่ 2.55%YoY เทียบกับ 3.10%YoY ในเดือน ส.ค. จากผลของฐานต่ำในปีก่อน ตามมาตรการบรรเทาภาระรายจ่ายกลุ่มพลังงานของภาครัฐ ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแตะระดับ 0.77%YoY สูงกว่า 0.62%YoY ในเดือนก่อนเล็กน้อย จากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าบางรายการหดตัวต่อเนื่อง เช่น หมวดพาหนะการขนส่งฯ สินค้าเสื้อบุรุษและสตรี ตลอดจนของใช้ส่วนบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.20%YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.48%YoY
Implication:
อุทกภัยรอบล่าสุดถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. ขยับแตะระดับ 0.61%YoY โดยภาวะน้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกสินค้าหลัก โดยเฉพาะข้าวนาปี อ้อย มันสำปะหลัง ตลอดจนผักและผลไม้ รวมทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายและจัดจำหน่ายสินค้า ทำให้ราคาสินค้าเกษตรและต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ผลกระทบจากภาวะชะงักงันดังกล่าวถือเป็นปัจจัยจากทางด้านอุปทาน ซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวและสามารถคลี่คลายลงได้ในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ การขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเดือนนี้ยังเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าและการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาภาระรายจ่ายด้านพลังงาน เมื่อช่วงเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม โมเมนตัมการปรับตัวของราคาสินค้าเทียบรายเดือนแล้วยังแผ่วลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวลง 0.10%MoM จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งถือเป็นกลุ่มสินค้าหลักที่มีสัดส่วนรวมถันถึง 2 ใน 3 ของตะกร้าเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับต่ำที่ 0.11%MoM ราคาสินค้าบางหมวด อาทิ เครื่องนุ่งห่ม และเคหสถาน (เช่น ของใช้ส่วนบุคคลภายในบ้าน) ลดลง บ่งชี้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอและจะกดดันให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ล่าสุดจากการสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์*ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2567 อยู่ที่ 0.7% ส่วนในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% ต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ปัจจัยดังกล่าวอาจหนุนให้ คณะกรรมการ กนง. ซึ่งจะมีการประชุมในกลางเดือน ต.ค. นี้ มีท่าทีผ่อนคลายต่อการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น
ฉมาดนัย มากนวล
Krungthai COMPASS
ข่าวเด่น