นายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จํากัด และสมาชิกสภาอนาคตโลก (Global Future Council) จาก World Economic Forum กล่าวไว้ในงานเสวนาใหญ่ในวาระ 60 ปี สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยว่า "The Era of Sustainomy" การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิมซึ่งเน้นกำไรอย่างเดียว (Profit) สู่ยุคใหม่ การบริหารจัดการที่คำนึงถึง 3 ส่วนคือ ผลกำไร (Profit) ผู้คน (People) และโลก (Planet) เป็นกลไกขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป แต่คือการลงทุนระยะยาวที่สามารถนำไปสู่กำไรที่ยั่งยืน ธุรกิจจึงต้องตั้งคำถามว่า การบริหารจัดการเรื่องความยั่งยืนคือ "ต้นทุน" หรือ "ลงทุน"
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคธุรกิจเริ่มตระหนักแม้การเดินทางสู่ความยั่งยืนจะมีความท้าทาย เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เน้นทุนนิยม (Capitalism) ซึ่งถึงแม้จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในช่วงแรก แต่ก็สร้างปัญหาให้กับโลกในภายหลัง เป็นความท้าทายของทุนนิยมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
“การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เน้นการเชื่อมโยงคนกับสินค้า จนถึงยุคของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่เชื่อมโยงคนกับข้อมูลและคนกับคน แต่ในยุคปัจจุบัน ปัญหาของโลกกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ปัญหาการแยกตัวทางเศรษฐกิจ-การเมือง (Geo-Economic Fragmentation) การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินไป (Over-Nature Consumption) และปัญหาหนี้ที่เพิ่มขึ้น (Debt Crisis)”
Sustainomy โมเดลความยั่งยืน
การเปลี่ยนแปลงวิธีการเติบโตเพื่อรวมคนและโลกในการขับเคลื่อน คือกุญแจสำคัญที่จะนำโลกไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งคนและสิ่งแวดล้อมไว้ข้างหลัง แนวคิด Sustainomy จึงเป็นโมเดลใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทุนนิยมสร้างไว้ ด้วยการปรับตัวให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
“การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นการเดินทางไกล และแม้ไม่สามารถบอกได้ว่าจะสำเร็จเมื่อใด แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักถึงความเชื่อมโยงของทุกส่วนในระบบเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนจากระบบตลาดแบบเดิมมาเป็นระบบที่คำนึงถึง Ecosystem ของผู้บริโภค และ Citizen อย่างทั่วถึง” การปรับตัวเป็นสิ่งที่จำเป็นทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนในอนาคต สุดท้าย ไม่มีธุรกิจใดต้องการเป็น "ผู้ร้าย" ในระบบเศรษฐกิจ
ในหัวข้อ Sustainable Business: An Enduring Marathon การพัฒนาด้านความยั่งยืนซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย หากติดตามอย่างต่อเนื่องจะเห็นว่าหลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่หลายรายทำเรื่องความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ถึงกระนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป และความเป็นอยู่ของผู้คนที่ยังมีความไม่เท่าเทียม Sustainable Business ยิ่งต้องมีบทบาทมากขึ้น
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยพูดเรื่องความยั่งยืนมานาน สิ่งสำคัญ คือประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในโลก มองไปข้างหน้าผู้คนในอนาคตจะอยู่กันอย่างไรในสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไป ทุกคนจึงให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือทำทั้งโลก ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
เมื่อพูดถึงความยั่งยืนสิ่งสำคัญที่ต้องมีควบคู่กันไปคือนวัตกรรมที่ดีขึ้น แต่บางครั้งนวัตกรรมเหล่านั้นเน้นตอบโจทย์เฉพาะด้านเศรษฐกิจ ไม่ตอบโจทย์เรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของ ปตท. ซึ่งทำธุรกิจด้านพลังงาน สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สิ่งที่ปตท. ทำไม่ใช่แค่มีพลังงานให้เพียงพอต่อการใช้ แต่ต้องคำนึงด้วยว่าพลังงานที่ใช้นั้นดีต่อโลกหรือไม่ พลังงานสะอาดก็ยังไม่พอ ต้องเป็นพลังงานสีเขียวไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าพลังงานสีเขียวเหล่านี้อยู่ในราคาที่ประเทศรับได้หรือไม่ มีมากพอต่อความต้องการใช้เพียงใด ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทุกคนเข้าถึงได้ ราคาไม่แพงเกินไป ทำให้ระบบขับเคลื่อนได้
“วันนี้พูดเรื่องยั่งยืน license to operate เราพูด 4 เรื่อง innovation, inclusive, sustainability, และ resilience ประเด็นที่สำคัญ ถ้าทุกคนเรียกร้องเราต้องหาพลังงานสะอาดให้ลูกค้า ”ธุรกิจของ ปตท. มูลค่ากว่า 90% มาจากรายได้ด้านพลังงาน วันนี้ยังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้แค่ green แต่ยังไม่ clean อนาคตต้องไปสู่พลังงานที่ทั้ง green และ clean อย่างเช่นการพัฒนา EV station ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และขณะเดียวกันก็ต้องมองหาพลังงานใหม่ๆ มาเสริมเมื่อพลังงานจากแดดและลมมีข้อจำกัด อาจมองหาพลังงานใหม่ เช่นไฮโดรเจน ซึ่ง ปตท. ได้ทดลองค่อยๆ ผสมไฮโดรเจนในก๊าซธรรมชาติ และขณะเดียวกันในหลุมที่ไม่มีก๊าซธรรมชาติอาจนำพลังงานใหม่ๆ นี้ไปเก็บไว้ โดยย้ำว่าการปรับตัวของ ปตท. ไม่ได้ทิ้งพลังงานไปธุรกิจใหม่ทั้งหมด
ดร.บุรณิน ย้ำว่าความยั่งยืนต้องมองทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป ที่ผ่านมา ปตท. เริ่มปรับตัวด้วยการขยายเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนทั้งสองด้าน โดยเข้าลงทุนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์และยา เนื่องจากเห็นแนวโน้มคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทั้งเรื่องเวลเนสความเป็นอยู่ที่ดี “ปตท. ขยายเข้าสู่ธุรกิจ life science โดยเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทผลิตยาสามัญ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา” และบริษัทที่ผลิตยาสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นการขยายที่ตอบโจทย์ประเทศ ปตท. พยายามทำเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทำ และบริษัทใหญ่ในไทยทำไม่ได้ พร้อมส่งเสริมอีโค่ซิสเต็มให้กับเอสเอ็มอี เป็นแนวทางการปรับตัวของ ปตท.
ผู้บริหาร ปตท. ย้ำว่าการขยายไปสู่ธุรกิจที่สองต้องตอบโจทย์ความต้องการ และต้องทำได้ทั้งความเร็วและมีศักยภาพมีอนาคตสามารถเติบโตได้ อย่างคาเฟ่อะเมซอนที่เริ่มมีกำไรในปีที่ 9 ของการทำธุรกิจ วันนี้อะเมซอน 4,000 แห่ง และมีสเตชั่น 2,000 แห่ง คนอยากได้สวนและอะเมซอนยอมทำในสถานีน้ำมัน
นอกจากปรับตัวดังกล่าวแล้ว หากยังไม่พอต้องหันมาดูเรื่องปลูกป่า อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่าการปลูกป่าทำให้ได้มากกว่าต้นไม้ โดยคิดจากเรื่องใกล้ตัว โลก สังคม สิ่งแวดล้อม ลองทำถ้าใช่ก็ไปต่อไม่ใช่ก็หยุด อย่างไรก็ตาม ดร.บุรณิน บอกว่าวันนี้ประเทศไทยปล่อย CO2 แค่ 1% ของทั้งโลก
เทคโนโลยีนำร่องการปรับตัว
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า เอไอเอสไม่ต่างจากบริษัทอื่นอยากเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาคนอาจไม่สนใจ แต่ปีนี้ทุกคนเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ แม้ธุรกิจก้าวหน้าไปมาก แต่หากไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม การขยายก็ทำได้ยาก และยิ่งสภาพแวดล้อมเปลี่ยนเกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมใหญ่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ก็สำคัญ “โลกวันนี้ ESG จำเป็น เราถูกบังคับจากผู้บริโภคเขาจะใช้เราหรือไม่ เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่แคร์เรื่องนี้ กฎกติกาอันใหม่ คู่แข่ง สังคมและชุมชนสำคัญ ทำอะไรไม่ง่าย” สมชัยย้ำและว่า การที่เราจะบริหารธุรกิจใดก็ตามเล็กใหญ่ต้องมองการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ทำก็อยู่ในโลกใบนี้ไม่ได้
นายสมชัย กล่าวว่า เอไอเอสโชคดีที่ทำธุรกิจสมัยใหม่ ดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิสโพรวายเดอร์ เอาดิจิทัลเซอร์วิสไปใส่ในมือลูกค้า ให้ความสะดวกสบายและลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมไปแบบอัตโนมัติ การสื่อสารช่วยลดการเดินทางลด CO2 ได้มาก แต่การปรับตัวต้องทำไปด้วยกันทั้งอีโค่ซิสเต็ม หรือเรียกว่า อีโค่ซิสเต็ม อีโคโนมี
โดยดำเนินการในสิ่งสำคัญ คือ เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น ช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ แต่ต้องมีนวัตกรรมเรื่องกรีนอินโนเวชั่น และนวัตกรรมเพื่อสังคม โซเซี่ยลอินโนเวชั่น “ผู้บริโภคให้ความสำคัญ โลกก็เช่นกัน คู่แข่งเราทำ ถ้าเราไม่ทำตามก็ไม่ได้” สมชัย ยกตัวอย่างการปรับตัวของเอไอเอสในเรื่องการดูแลเสาสัญญาณที่มีอยู่กว่า 40,000 ต้น ซึ่งเปลี่ยนเป็นโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 20% และด้านเน็ตเวิร์คเดิมใช้คนลงไปสำรวจดูแล แต่วันนี้มีเอไอตรวจจับตัวเองได้ลดการใช้คน ลดค่าใช้จ่ายและลด CO2
อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ย้ำว่าการทำให้ธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืนระยะยาว ต้องเป็น Tone from the Top คือระดับหัวสั่งการว่าทุกอย่างต้องเติบโตและยั่งยืน ไม่ใช่แค่ตอบแบบสอบถามให้ได้รางวัล แต่ต้องลงมือทำจริง มีการกำหนดและวัดผลเป้าหมายให้ชัดเจน
นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า แนวทางของเซ็นทรัลเดินตามรอยผู้บริหารยุคบุกเบิกที่เน้นให้ต้องดูแลธุรกิจขนาดเล็กและกลาง เซ็นทรัลจึงเดินมาในแนวทางนี้ สิ่งที่ให้ความสำคัญ คือ การศึกษา ด้านการเกษตรกร และเอสเอ็มอี “ผมลงพื้นที่บ่อย พบสิ่งแวดล้อมมีปัญหามาก เลยมาเขย่าแผนและพัฒนาจนเป็นที่ท่องเที่ยวได้ พยายามดูแลทุกที่ให้ดีสุดตามคอนเซ็ปท์ เซ็นทรัล ออฟ” ด้วยหลักคิดว่าทำธุรกิจสำเร็จคืนกำไรสังคม แต่ตอนหลังเปลี่ยนไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม (create shared value) โดยทำไปพร้อมกับการทำธุรกิจ ดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม ควบคู่กัน
ขณะเดียวกันก็สอนพนักงานเซ็นทรัลให้เปลี่ยนแนวคิดให้พร้อมช่วยเหลือ ทั้งการแบ่งปันคุณค่าและความรู้ “ปกติเราทำอะไรสั้นๆ ตอนนี้ไม่แล้วเรามองระยะยาว ไม่มองเฉพาะตัวเองแต่มองผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ส่งต่อความรู้ความชำนาญ เป็นเอ็กซเพิร์ตสอนคนอื่นต่อไป ดูเรื่องความเป็นอยู่ชุมชนและผลกระทบ” ปรับการทำธุรกิจให้ควบคู่กับชุมชน และพยายามทำเวิร์คช็อปสอนซัพพลายเออร์ บริษัทใหญ่ทำอยู่แล้วแต่รายเล็กเอสเอ็มอีไม่ได้ทำพวกเขาไม่รู้ จึงพยายามสอนเอสเอ็มอีให้เร็วที่สุด ด้านการปรับตัวในการส่งออกสินค้า
นายพิชัย ย้ำว่า ธุรกิจนอกจากกำไร ต้องได้สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยของเสียจัดการให้เป็นศูนย์ กลุ่มโรงแรมของเซ็นทรัลก็เน้นมากในเรื่องความยั่งยืน ขยะทะเล ต้นไม้ แต่ละกลุ่มธุรกิจมีเป้าหมายต่างกันแต่โดยรวมเป็นเรื่องเดียวกัน ผู้นำต้องทำจริงจังตามกติกา ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่กรีน จึงเป็นโจทย์ให้ทุกหน่วยธุรกิจคิดและทำแผน เช่น ศูนย์อาหารหลายศูนย์ นำอาหารที่เหลือหรือหมดอายุไปทำปุ๋ย และปรับใช้แพคเกจจิ้งที่เป็นรีไซเคิล ปลูกฝังพนักงาน ลูกค้าและทุกภาคส่วนโดยพยายามให้ทุกคนทำด้วยกันและทำด้วยใจ
“เรื่องความยั่งยืนต้องปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากโรงเรียนให้เด็กรุ่นใหม่เติบโตมาด้วยแนวคิดเหล่านี้ จะทำให้ทุกคนเข้าใจเห็นคุณค่าและมีส่วนร่วม” นายพิชัย ยังได้ยกตัวอย่างเรื่องการปลูกป่าว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้ปลูกกาแฟ และอาโวคาโด้ไปแล้ว 6,000 ไร่ และทำศูนย์เรียนรู้มีคนมาเยี่ยมชมวันละ 200-300 คน ทำเป็นที่ท่องเที่ยวเป็นจุดเช็คอินของจังหวัด เป็นแหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์แล้ว 12 แห่งจะเพิ่มเป็น 50 ที่ภายในสองปี ทำเรื่องยั่งยืนให้ทุกคนคิดต่อยอดได้ ทำท่องเที่ยวชุมชนสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
ข่าวเด่น