เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ กนง. เริ่มลดดอกเบี้ย และมีแนวโน้มจะลดอีกครั้งภายในไตรมาส 1 ปีหน้า


กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% โดย 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% เนื่องจาก กนง. เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงนี้จะไม่ได้ฉุดรั้งกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Debt deleveraging) ท่ามกลางภาวะสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง (รูปที่ 1) และเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในขอบเขตสอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย กล่าวคือเป็นระดับที่ไม่ได้กระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจ ทั้งนี้ SCB EIC มองว่าการสื่อสารของ กนง. ไม่ได้ Dovish ลงจากการประชุมครั้งก่อนมากนัก เพราะยังให้ความสำคัญกับเสถียรภาพระบบการเงิน การรักษา Policy space ของนโยบายการเงิน และมุมมองอัตราดอกเบี้ยไม่ควรต่ำเกินไปจนเป็นการสะสมความเสี่ยงในระยะยาว 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน กนง. ยังมองภาพใกล้เคียงเดิม โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 2.7%YOY และ 2.9%YOY ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ใกล้เคียงประมาณการในการประชุมเดือนมิถุนายนที่ 2.6%YOY และ 3.0%YOY ตามลำดับ ขณะที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.5% และ 1.2% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ลดลงจากประมาณการเดิมในเดือนมิถุนายนที่ 0.6% และ 1.3% เล็กน้อย ส่วนภาวะการเงินตึงตัวขึ้นตามการแข็งค่าของเงินบาท และปริมาณสินเชื่อโดยรวมที่เติบโตชะลอลง โดยกลุ่มธุรกิจ SMEs เผชิญภาวะสินเชื่อหดตัวสูงขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลงต่อเนื่อง โดย กนง. 
จะติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อตลาดสินเชื่อและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

IMPLICATIONS
 
SCB EIC มอง กนง. จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะการเงินเป็นหลัก โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นการปรับลดเพื่อผ่อนคลายภาวะการเงิน ท่ามกลางภาวะสินเชื่อที่เติบโตชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อทยอยปรับด้อยลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ภาวะการเงินตึงตัวจะส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งสะท้อนในการสื่อสารของ กนง. รอบนี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพยายามรักษาสถานะความเป็นกลาง (Neutral stance) ของนโยบายการเงินไว้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ กนง. ประเมินว่ายังใกล้เคียงกับการประชุมครั้งก่อน และยังให้ความสำคัญปัจจัยเสถียรภาพระบบการเงินเช่นเดียวกับการประชุมครั้งก่อน ๆ โดย กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยควรมีบทบาทในกระบวนการ Debt deleveraging โดยไม่ควรต่ำเกินไปจนเป็นการกระตุ้นการก่อหนี้ครัวเรือนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงทำให้จังหวะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับผลกระทบของภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นหลัก 
 
SCB EIC ประเมินว่าจะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งภายในไตรมาส 1/2025 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม โดยภาพเศรษฐกิจและภาวะสินเชื่อชะลอตัวจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความน่ากังวลของสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า แต่จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโลกจะเริ่มผ่อนคลายลง 

1) สถานการณ์สินเชื่อ SCB EIC ประเมินว่า นอกจากความกังวลของ กนง. เกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจ SMEs แล้ว การขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม จากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงินซึ่งจะยังมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น (รูปที่ 2) สอดคล้องกับคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนที่ปรับด้อยลงอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 3) 
 
2) ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประเมินว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะปรับสูงขึ้นตามความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อภาคการส่งออกสินค้าไทยได้ แม้ปัจจุบันการส่งออกจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง และ 
 
3) ภาวะการเงินโลกจะผ่อนคลายลงต่อเนื่อง ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลัก สภาพแวดล้อมทางการเงินโลกจะเอื้อต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมากขึ้น
 
SCB EIC จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งไปอยู่ที่ 2% ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า
 
รูปที่ 1 : สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงต่อเนื่อง
 
 
รูปที่ 2 : มาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนปรับเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง
 
 
 
รูปที่ 3 : คุณภาพสินเชื่อครัวเรือนปรับด้อยลง

 
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-161024
 
 
 
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ นนท์ พฤกษ์ศิริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

MACROECONOMICS RESEARCH 
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ 
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส นนท์ พฤกษ์ศิริ
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส วิชาญ กุลาตี
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์  นักเศรษฐศาสตร์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักเศรษฐศาสตร์
ภาวัต แสวงสัตย์ นักเศรษฐศาสตร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ต.ค. 2567 เวลา : 11:12:46
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 4:38 pm