แบงก์-นอนแบงก์
Scoop: ออมสิน เดินหน้าชัดลดกำไร เพื่อขยาย "Social Impact" ตั้งเป้าช่วยสังคม - คนฐานราก 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี



 
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงจุดยืนสำคัญขององค์กร ที่วางเป้าเป็น ธนาคารเพื่อสังคมที่มุ่งมั่นสร้าง “Social Impact” หรือผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมเป็นหลัก ภายใต้แผนการดำเนินงานของ CSV การสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วม ที่ธนาคารออมสินมีการปรับลดกำไรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อสามารถทำภารกิจช่วยสังคม คนฐานราก และผู้ประกอบการ SME โดยตั้งเป้าขยายการทำ Social Impact ในงบประมาณไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งปี 2567 ธนาคารออมสินช่วยเหลือสังคมคิดเป็นมูลค่าไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท
 
นายวิทัย กล่าวว่า ธนาคารออมสินได้กำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่ 2 สำหรับทิศทางการดำเนินงานต่อจากนี้อีก 4 ปี (2568 - 2572) ที่ทางธนาคารจะขยายการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม หรือการทำ Social Impact ด้วยการยึดจุดยืนของการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” โดยอาศัยการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV (Creating Shared Value) อันประกอบด้วยคุณค่าทางสังคม Social Value + คุณค่าทางธุรกิจ Business Value ซึ่งทำให้ธุรกิจ “เติบโต” ไปพร้อมกับ “การแก้ไขปัญหา” และนำกำไรจากการประกอบธุรกิจที่มีส่วนช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกันดังกล่าว เอามาเป็นทุนในการสร้างแผนการดำเนินงานที่ช่วยเหลือสังคมอีกที สอดคล้องกับจุดยืนของธนาคารออมสินที่มุ่งมั่นปรับลดกำไรลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อขยายการช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น

 
 
โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา (2563-2567) หรือยุคแรกของการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และก้าวขึ้นมาเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” อย่างสมบูรณ์นั้น ทางธนาคารได้ดำเนินภารกิจเชิงสังคมภายใต้แนวคิด Social Mission Integration หรือการบูรณาการภารกิจเชิงสังคมในทุกกระบวนการสำคัญขององค์กร ผ่านบทบาทพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ช่วยดึงคนเข้าสู่ระบบการเงินมากขึ้น เช่น การให้สินเชื่อในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเครดิตต่ำและไม่มีเครดิตให้เข้าถึงแหล่งเงิน การลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน และการช่วยเหลือสังคมให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพมากขึ้น ซึ่งนับเป็นการลดต้นทุน และนำกำไรของธนาคารเข้าช่วยเหลือสังคมในทุก ๆ การดำเนินงานภายในองค์กร
 
ส่วนในบทบาทต่อจากนี้ที่พัฒนามาสู่การทำ CSV นั้น ธนาคารออมสินจะมุ่งมั่นในการดูแลแก้ปัญหาความยากจนที่จะเป็นการขยาย Social Impact หรือผลลัพธ์เชิงบวกในภาพที่ใหญ่กว่าเดิม ด้วยจุดยืนที่ทางธนาคารจะดำเนินธุรกิจ 2 ข้างไปด้วยกัน กล่าวคือ การทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ อันเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และนำเอากำไรที่ได้จากส่วนนี้ มาอุดหนุนธุรกิจเชิงสังคม ส่งผลให้สามารถดำเนินธุรกิจเชิงสังคมได้จำนวนมาก แม้อาจจะมีการขาดทุนเลยทันทีตั้งแต่เริ่มดำเนินการ แต่กำไรที่ได้จากธุรกิจส่วนแรก จะเข้ามาช่วย Subsidise ให้กับธุรกิจเชิงสังคม ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลระหว่าง 2 พอร์ต ที่ทำให้ธนาคารมีเสถียรภาพด้านการเงิน ที่สามารถเดินหน้าภารกิจที่มุ่งบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงิน สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดของแผน 4 ปีข้างหน้า ที่ธนาคารสามารถ CSV ได้แข็งแรงมากขึ้นนั้น คือการสนับสนุนจากทางภาครัฐ และกระทรวงการคลังเมื่อช่วงกลางปีนี้ ที่เห็นชอบการปรับตัวชี้วัดให้ธนาคารออมสินไม่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในทำภารกิจช่วยสังคม คนฐานราก ช่วยคนจน และช่วยเหลือ SME ให้มากขึ้น โดยมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit) ทั้งนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายกำไรในปี 2567 ประมาณ 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และกำไรส่วนนี้ยังถูกนำส่งเป็นรายได้ของรัฐต่อไปอีกด้วย ขณะที่ธนาคารยังมีความแข็งแกร่งด้วยปริมาณเงินสำรองส่วนเกินที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 80,000 ล้านบาท (General Provision) ในปี 2567 (จากเดิมในปี 2562 มีเพียง 4,000 ล้านบาท เท่านั้น)

“ปีที่แล้วออมสินมีกำไร 3.3 หมื่นล้านบาท และที่ผ่านมาเราเป็นธนาคารที่มีความสามารถในการทำกำไรอันดับ 2-3 ตลอด ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ คิดว่าควรจะเอากำไรอย่างพอเหมาะพอสมแล้วเอากำไรส่วนที่เหลือไปช่วยคน ไปให้สังคม น่าจะเป็นคอนเซ็ปต์ที่ถูกต้องมากกว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลด้วย ที่ยอมให้ออมสินกำไรลดลงได้ จากการเอากำไรไปช่วยประชาชน ไปช่วยสังคม ฉะนั้นในปีนี้ธนาคารออมสินจึงมีการปรับกำไรให้อยู่ในเกณฑ์ Responsible Profit หรือทำกำไรในระดับเหมาะสมด้วยการใช้ตัวชี้วัด ROA (Return on Asset) ลดลงมาให้อยู่ในระดับ 0.75% โดยเราตั้งกำไรไว้ 2.7 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าได้กำไรถึง 2.9 หมื่นล้านบาท ก็เอาไปกันสำรองหนี้เพิ่ม แต่หากได้กำไรแค่ 2.3 หมื่นล้านบาท ก็กันสำรองหนี้น้อยลง ซึ่ง 6 เดือน ปี 67 กำไรไปแล้ว 1.8 หมื่นล้านบาท ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ก็ต้องดูและปรับให้ได้ตาม Target ซึ่งช่วงก่อนโควิด ตอนปี 62 กำไร 2.4 หมื่นล้านบาท แต่พอเกิดโควิด ปี 63 กำไร 1.8 หมื่นล้านบาท เพราะ ธปท.ให้กันสำรองหนี้” นายวิทัยกล่าว

โดยการมุ่งมั่นขยายผลลัพธ์เชิงบวกให้กับสังคมและชุมชนคนฐานรากในอีก 4 ปีข้างหน้าเพื่อสอดรับกับการสร้าง Social Impact ทางธนาคารจะยึดการทำกำไรในระดับเหมาะสมหรือ Responsible Profit ควบคู่ไปกับภารกิจพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 4 ด้าน ได้แก่ 

1. Financial Inclusion ดึงคนเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง เช่นที่ผ่านมา ธนาคารได้ทำการออกสินเชื่อห่วงใย (เพื่อสู้ภัย COVID-19) อนุมัติให้คนมีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ หรือไม่มีเครดิตที่ไม่เคยกู้ได้เลย เป็นต้น และในแผน 4 ปีต่อจากนี้ ธนาคารมีเป้าหมายให้คนเข้าถึงโอกาสทางการเงินอย่างน้อย 2 ล้านคน
 
2. การแก้ปัญหาหนี้สิน จากผลิตภัณฑ์การเงินที่มีดอกเบี้ยแพงเกินจริงในตลาด ธนาคารออมสินจะมีการช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ ด้วยการลดดอกเบี้ย เช่นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ที่ธนาคารลดดอกเบี้ย 10% จาก 28% ให้เหลือ 16 - 18% เป็นอัตราต่ำสุดในระบบธนาคาร เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้ารายย่อย ทั้ง ๆ ที่ดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ลด หรือการแก้ปัญหาหนี้สินในครู ข้าราชการ และบุคคลทั่วไปกว่า 800,000 ราย ช่วยลูกหนี้รายย่อยให้หลุดพ้น NPL อันเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนกลับมาใช้สินเชื่อในระบบ และช่วยไม่ให้เสียเครดิต 
 
3. การสร้างอาชีพให้มีรายได้เพิ่ม และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อให้เลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ เช่น โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นการดำเนินการเสริมสร้างพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น นำวิทยาการกระบวนการทำงานสมัยใหม่ ไปยกระดับขีดความสามารถกลุ่มองค์กรชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ ให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม แข่งขันในตลาดได้
 
4. การสนับสนุนภาครัฐดำเนินนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นบทบาทใหม่ ที่หลังจากดำเนินการ 3 ข้อแรก ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการขยาย Social Impact ต่อสังคมได้มากขึ้นตามที่ธนาคารออมสินตั้งเป้าไว้ โดยจะก้าวเข้าไปช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี มีระยะเวลาการขอยื่นกู้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2567 จนถึง 31 ธ.ค. 2568 และเบิกได้ถึง 31 ธ.ค. 2569 ซึ่งทางธนาคารมีต้นทุนอยู่ที่ 2.5% หรือ 5,000 ล้านบาท โดยที่ทางออมสินไม่ได้มีการขอชดเชยใด ๆ และการออกมาตรการช่วยเหลือโดยการพักหนี้อัตโนมัติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ธนาคารในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยพักจ่ายเงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ย (ลดดอกเบี้ยเหลือ 0) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ต.ค. – ธ.ค.2567 ซึ่งคิดเป็นต้นทุนที่ธนาคารแบกรับไปแล้ว 2,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก จากพื้นที่น้ำท่วมที่ลุกลามมากขึ้น

 
สำหรับภายในปี 2567 นี้ ธนาคารกำหนดเป้าหมายขยายผลการสร้าง Social Impact หรือผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมให้กว้างขวางขึ้น ผ่านมาตรการและการทำภารกิจ 10 ด้าน ได้แก่ 1) การแก้ไขหนี้/ยกหนี้ให้ครัวเรือน 2) การลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย 3) การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ เพื่อดึงประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่ม SMEs เข้าสู่ระบบการเงิน 4) การสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 5) การช่วยเหลือภัยพิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 6) การสร้างอาชีพให้ประชาชนกลุ่มฐานราก 7) การพัฒนาชุมชน 8) การส่งเสริมการออม 9) การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ 10) การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยต้องสามารถเข้าช่วยเหลือสังคม ประเมินเป็นตัวเลขเม็ดเงินผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ได้ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป 

นอกจากนี้ ธนาคารได้เร่งขับเคลื่อนแผนขยายผลการช่วยเหลือสังคม และขยายขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ด้วยการบริหารงานแบบกลุ่มบริษัทผ่าน 4 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม SMEs ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด 2) บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ซึ่งได้มีการทำสัญญาโอนหนี้ล็อตแรกแล้วกว่า 140,000 บัญชี 3) บริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนกลุ่มฐานราก ด้วยการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “Good Money by GSB” และ 4) บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อช่วยพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล/AI ของธนาคาร 

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินจะมีการปรับเกณฑ์เรื่องการฟ้องแพ่ง ที่จะลดจำนวนเคสที่ถูกฟ้องล้มละลายปรับตัวลดลง โดยเฉพาะผู้ค้ำประกัน และมีการใช้ ESG Score ประเมินสินเชื่อลูกหนี้รายใหญ่ ที่จะมอบส่วนลดดอกเบี้ยให้หรืออนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อเป็นพิเศษแก่กิจการที่รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นการช่วยเหลือสังคมควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการขยายผลลัพธ์เชิงบวกในทุกมิติให้เกิดขึ้นกับคนในสังคม

 
“ในระยะต่อไป ออมสินจะขยายขีดความสามารถในการช่วยเหลือคนให้มากขึ้น เช่นอาจมีการดึงดูดให้คนมาฝากเงิน หรือกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคารออมสิน ด้วยการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ว่ากำไรจากการดำเนินงานที่ธนาคารได้รับ จะเอาไปช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง สิ่งนี้เป็นแก่นของการทำ CSV ที่ชัดเจนของธนาคาร”  นายวิทัยกล่าวทิ้งท้าย
 

LastUpdate 18/10/2567 10:23:20 โดย : Admin
11-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 11, 2025, 2:06 pm