ซีเอสอาร์-เอชอาร์
คนยากจนในประเทศไทยเผชิญกับการเลือกปฏิบัติมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นถึง 3 เท่า ในวันขจัดความยากจนสากล ยูนิเซฟเรียกร้องการยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อคนยากจน


 
ในวันขจัดความยากจนสากลของปีนี้ (International Day for the Eradication of Poverty  หรือ #EndPoverty Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 ตุลาคมของทุกปี องค์การยูนิเซฟได้เน้นย้ำถึงปัญหาการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ยากจน โดยในประเทศไทย ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีทั่วประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ พบว่า ประชาชนรู้สึกว่าตนเองถูกเลือกปฏิบัติเพราะความยากจนมากกว่าสาเหตุอื่น ๆ เช่น อายุ เพศ ศาสนา หรือความพิการ ถึง 3 เท่า

 
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า "ความยากจนไม่ใช่แค่เรื่องการขาดเงินหรือทรัพยากร แต่ยังเชื่อมโยงกับการถูกตีตราและกีดกันทางสังคม เด็กจากครอบครัวยากจนมักขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล และการคุ้มครอง ซึ่งส่งผลให้พัฒนาการถูกจำกัดและตกอยู่ในวงจรความยากจนข้ามรุ่น อีกทั้งยังมักถูกตำหนิและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม หากเราต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและก้าวหน้า เราต้องยุติการตีตราและสร้างหลักประกันว่าเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงสิทธิของตนและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและเกื้อกูล โดยไม่คำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ"

การศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา พบว่า คนยากจนมักถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น รูปลักษณ์ ที่อยู่อาศัย หรือลักษณะส่วนบุคคลอื่น ๆ ทำให้พวกเขารู้สึกถูกตีตรา ไม่ได้รับความเคารพ และไร้อำนาจต่อรอง สถานการณ์นี้ยิ่งรุนแรงขึ้นสำหรับผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้านอื่นด้วย เช่น เพศสภาพ วิถีทางเพศ เชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์

 
นางคิมกล่าวเสริมว่า "ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจน โดยกลุ่มที่เปราะบางเป็นพิเศษคือ ครอบครัวที่มีลูก ครอบครัวที่มีรายได้ทางเดียว คนที่มีหนี้สินหรือไม่มีเงินออม และครอบครัวที่ดูแลลูกที่พิการ นอกจากนี้ เหตุการณ์วิกฤตในชีวิต เช่น การเจ็บป่วย การตกงาน หรือภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม อาจทำให้คนตกอยู่ในความยากจนอย่างกะทันหันได้"

การศึกษาทั่วโลกพบว่า คนยากจนมักเผชิญปัญหาจากหน่วยงานที่ควรช่วยเหลือพวกเขา โดยบริการหลายส่วนไม่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พวกเขารู้สึกไร้อำนาจและถูกทอดทิ้ง บ่อยครั้งที่หน่วยงานต่าง ๆ กลับกีดกันไม่ให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและบริการจำเป็น เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ และการคุ้มครองทางสังคม

ประสบการณ์ของยูนิเซฟทั่วโลกพบว่า การคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุม การศึกษา และการดูแลสุขภาพ เป็นกุญแจสำคัญในการทำลายวงจรความยากจน โครงการคุ้มครองทางสังคมและเงินอุดหนุนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถช่วยลดความยากจนและช่วยให้ครอบครัวสามารถลงทุนในการศึกษาและสุขภาพของเด็กได้ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ครอบครัวรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

 
ในประเทศไทย โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในปัจจุบันมุ่งเน้นให้เงินอุดหนุนรายเดือนแก่เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีในครอบครัวยากจน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดพบว่าเด็กยากจนร้อยละ 34 ทั่วประเทศกลับไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนตามสิทธิ์ เนื่องจากปัญหาการคัดกรองและการลงทะเบียน ยูนิเซฟจึงเรียกร้องให้มีการขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีทุกคนเพื่อแก้ปัญหาการตกหล่น อีกทั้งยังช่วยลดความยากจนและช่วยให้เด็กได้เริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด

นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อคนยากจน พร้อมทั้งสร้างหลักประกันว่า ระบบและนโยบายต่าง ๆ จะตอบสนองความต้องการและช่วยให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ต.ค. 2567 เวลา : 18:50:43
22-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 22, 2024, 1:03 pm