ในไตรมาส 3/24 เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลงอยู่ที่ 4.6%YoY โดย 9 เดือนแรกของปี 2024 เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ 4.8%YoY โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญ โดยการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ 9 เดือนแรกของปี 2024 ยังหดตัวที่ -10.1%YoY
การบริโภคภายในประเทศยังอ่อนแอ รวมถึงความเสี่ยงจากเรื่องเงินฝืดยังมีอยู่ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนก.ย.2024 ขยายตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 0.4% และ 0.1% ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลจากการเพิ่มเงินอุดหนุนในมาตรการ Trade in (ของเก่าแลกของใหม่) เดือนก.ค. 2024 ช่วยหนุนให้ยอดค้าปลีกในไตรมาส 3/24 เติบโตอยู่ที่ 2.7%YoY ทรงตัวจากไตรมาส 2/24 ที่ 2.6%YoY
การส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3/24 โดยขยายตัวอยู่ที่ 6.0%YoY จาก 5.7%YoY ในไตรมาส 2/24 จากการเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรปจากความกังวลเกี่ยวกับการยกระดับสงครามการค้า และการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย.2024 อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าการส่งออกจะเริ่มมีแนวโน้มส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจชะลอลง หลังมีการเร่งส่งออกไปในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024
ด้านอุตสาหกรรม High-tech ที่ทางการจีนให้ความสำคัญยังเป็นอีกปัจจัยหนุนเศรษฐกิจในไตรมาส 3/24 โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรม High-tech และการลงทุนในอุตสาหกรรม High-tech ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 เติบโตได้อยู่ที่ 9.1%YoY และ 10.0%YoY ตามลำดับ
ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากไตรมาส 3/24 จากมาตรการเศรษฐกิจทื่ทางการจีนทยอยออกมา โดยคาดว่าจะมีมาตรการทางการคลังออกมาเพิ่มเติม ซึ่งขนาดของวงเงินและรายละเอียดของมาตรการน่าจะมีออกมาในช่วงสิ้นเดือนต.ค.2024 ถึงต้นเดือนพ.ย.2024 นอกจากนี้ ในฝั่งมาตรการทางการเงินคาดมีการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมอีก 0.25-0.50% ตามที่ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนได้ระบุไว้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังเผชิญความเสี่ยงสำคัญหลายด้าน คือ
1. สถานการณ์การกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. 2024 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าไม่ว่าจะเป็นพรรคใดที่ได้รับการเลือกตั้ง สหรัฐฯ จะเพิ่มการกีดกันการค้ากับจีน ขณะที่ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการปรับเพิ่มภาษีจากประเทศอื่น ๆ
2. ภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในประเทศ ซึ่งการคลี่คลายปัญหายังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี แม้ทางการจะทยอยออกมาตรการต่าง ๆ เช่น ปรับลดเงินดาวน์ และผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยล่าสุดมีการขยายวงเงินในมาตรการ whitelist ที่สนับสนุนสินเชื่อให้กับโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังสร้างไม่เสร็จเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเป็น 4 ล้านล้านหยวน อย่างไรก็ตาม ราคาที่อยู่อาศัย ยอดขายที่อยู่อาศัยรวมถึงการลงทุนในที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มชะลอลง นอกจากนี้ ดัชนีความต้องการในการซื้อบ้านยังคงปรับลดลง
3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะยังกดดันการบริโภคในประเทศ แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผ่อนคลายในภาคการเงิน แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีทิศทางชะลอตัวจะยังกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคของจีน เนื่องจากครัวเรือนในจีนมีความมั่งคั่งประมาณ 70% อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนปี 2024 มีแนวโน้มเติบโตที่ 4.8% ต่ำกว่าเป้าหมายทางการที่ 5.0%
ข่าวเด่น