เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ "เงินบาททยอยแข็งค่าตามทองคำโลก ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นรับผลประชุม กนง. ลดดอกเบี้ย"


สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
 
• เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น โดยมีอานิสงส์จากการพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของราคาทองคำในตลาดโลก 
 
เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกในช่วงต้นสัปดาห์ แต่การเคลื่อนไหวยังค่อนข้างจำกัดในช่วงก่อนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ได้รับอานิสงส์จากการคาดการณ์ว่า เฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายๆ รอบการประชุมข้างหน้า เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ในช่วงกลางสัปดาห์ หลังกนง. สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยมติ 5:2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ระดับ 2.25% แต่ก็สามารถล้างช่วงอ่อนค่าลงทั้งหมดและพลิกแข็งค่ากลับมา โดยมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่   
 
 
อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลยอดค้าปลีกและตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งหนุนแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด โดย ณ ขณะนี้ตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยทั้งสิ้นประมาณ 50 basis points ภายในช่วงปลายปี 2567  

• ในวันศุกร์ที่ 18 ต.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ต.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 15-18 ต.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 977 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 5,188 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 5,122 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 66 ล้านบาท)

• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 21-25 ต.ค. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.80-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย. รายงาน Beige Book ของเฟด ดัชนีความเชื่อมั่น/ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภค และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

• ดัชนีหุ้นไทยแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีครั้งใหม่ช่วงท้ายสัปดาห์  
หุ้นไทยขยับลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ โดยเผชิญแรงกดดันหลักๆจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง หลังโอเปกปรับลดตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกสำหรับปีนี้และปีหน้าลง อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ หลังกนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไปที่ 2.25% ซึ่งเหนือความคาดหมายของตลาด โดยปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นแรงซื้อหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ย นำโดย กลุ่มไฟแนนซ์และอสังหาริมทรัพย์ 
 
 
หุ้นไทยปรับขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงท้ายสัปดาห์ โดยแตะจุดสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีครั้งใหม่ที่ 1,506.82 จุด ก่อนจะลดช่วงบวกลงมาบางส่วนตามแรงขายทำกำไรก่อนปิดตลาดปลายสัปดาห์ อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นมากสุด โดยนอกจากจะได้รับอานิสงส์ตาม Sentiment ตลาดในภาพใหญ่หลังกนง. ลดดอกเบี้ยแล้ว ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากปัจจัยเฉพาะด้วยเช่นกัน ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง

• ในวันศุกร์ที่ 18 ต.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,489.82 จุด เพิ่มขึ้น 1.34% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 66,749.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.30% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.78% มาปิดที่ระดับ 340.34 จุด

• สัปดาห์ถัดไป (21-25 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,475 และ 1,450 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,510 และ 1,525 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ของบจ.ไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย. ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนต.ค. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ  
 

LastUpdate 18/10/2567 21:29:09 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 4:35 pm