แบงก์-นอนแบงก์
Scoop : "แบงก์รัฐ" ขานรับนโยบายการคลัง ช่วยเหลือ SMEs ไทย ฝ่าปัญหาน้ำท่วม - เงินบาทแข็งค่า


จากสถานการณ์ของอุทกภัยที่เกิดขึ้น และค่าเงินบาทที่ยังอยู่ช่วงแข็งค่า ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและรายได้ของผู้ประกอบการ SMEs ในแทบทุกภาคส่วน ทั้งร้านค้า โรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม เกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก ไปจนถึงธุรกิจภาคบริการอื่นๆ ที่สัดส่วนการบริโภคจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ รอบตัว เช่น ความเสี่ยงทางการค้า ที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ทำให้เหล่าผู้ประกอบการต่างต้องรับมือกับความท้าทายในการบริหารการเงินให้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะอยู่รอดได้

โดยภาระที่ SMEs ไทย ต้องแบกรับในขณะนี้ เรียกได้ว่าไม่ง่ายเลย เพราะจากปัญหาดังกล่าว SMEs ต้องเผชิญกับปัญหารายได้โตต่ำ แบกรับต้นทุนโดยเฉพาะจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อกำไรสะสมที่ไม่เพียงพอในการใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ และยากที่จะอยู่รอดได้ นอกจากนี้ เนื่องด้วย SMEs ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคประเทศไทย เป็นแหล่งจ้างงานกว่า 70% จากจำนวนการจ้างงานภาคธุรกิจทั้งหมด 18.07 ล้านคน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่กระทรวงการคลังต้องมีการเข้าไปช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และแบ่งเบาภาระหนี้ของผู้ประกอบการ เร่งเข้าช่วยเหลือกงล้อสำคัญของเศรษฐกิจไทยโดยด่วน ซึ่งทางหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถานบันการเงินทั้ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ได้ขานรับนโยบายของกระทรวงการคลังอย่างแข็งขัน และได้ออกมาตรการที่เข้าช่วยเหลือเหล่าผู้ประกอบการให้ฝ่ามรสุมนี้ไปให้ได้ ดังนี้
 
ธนาคารออมสิน
 
 
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up เพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย Micro SMEs และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้สามารถประคับประคองกิจการให้ดำเนินต่อไปได้ หลังจากได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์อุทกภัย โดยจะเป็นตัวกลางปล่อยเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี (ระยะเวลาการขอยื่นกู้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2567 จนถึง 31 ธ.ค. 2568 และเบิกได้ถึง 31 ธ.ค. 2569) วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ นำไปปล่อยสินเชื่อต่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 3.5% ต่อปี
 
โดยโครงการนี้ทางธนาคารออมสินมีต้นทุนการจัดทำโครงการดังกล่าว อยู่ที่ 2.5% หรือ 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยการพักหนี้อัตโนมัติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ธนาคารในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยพักจ่ายเงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ต.ค. – ธ.ค.2567) คิดเป็นต้นทุนที่ธนาคารแบกรับไปแล้วอีก 2,000 ล้านบาท นับเป็นการให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือ SMEs และผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เหนือกว่าภารกิจการสร้างอัตรากำไรทางธุรกิจ โดยมุ่งมั่นปรับลดกำไรลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อขยายการช่วยเหลือสังคม หรือสร้าง Social Impact ให้มากขึ้น
 
EXIM BANK
 

 
 
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์เงินบาทที่มีการผันผวน และแข็งค่าขึ้น ทางธนาคารได้ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง เดินหน้าช่วยเหลือผู้ส่งออก SMEs ไทย ด้วยบริการครบวงจร ทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องและปิดความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 1.EXIM Happy Export Credit สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 2 ปีแรก 3.25% ต่อปี เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจส่งออกและที่เกี่ยวเนื่อง 2.Happy Foreign Exchange Forward Contract บริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษ รับ Happy FX Rate โบนัสเพิ่มอีก 3 สตางค์ จองได้สูงสุด 9 สกุลเงินหลัก ให้บริการผู้ส่งออกทั่วประเทศทั้งที่มีวงเงินสินเชื่อกับ EXIM BANK หรือสถาบันการเงินอื่น โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม

โดยการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการดังกล่าว นับเป็นการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ส่งออก และให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออก SMEs มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ทางธนาคารยังจัดโครงการอบรมให้ความรู้ทางการเงิน และการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความสำคัญในช่วงนี้ที่เงินบาทผันผวน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยรับมือกับความเสี่ยงการค้าระหว่างประเทศได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

SME D Bank
 

 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ก็ได้มีการขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง เดินหน้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติและสาธารณภัยในพื้นที่ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการ “พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย” สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และ “เติมทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ” สำหรับนำไปใช้ฟื้นฟูกิจการ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่สอดคล้อง เช่น สินเชื่อ ‘SME Green Productivity’ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุดถึง 10 ล้านบาท ปลอดชำระหนี้เงินต้น 12 เดือนแรก และปลอดค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 4 ปีแรก ควบคู่บริการด้านการพัฒนา ผ่านแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank (dx.smebank.co.th) ช่วยยกระดับความสามารถทางธุรกิจ ส่งเสริมให้เติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืนในโลกธุรกิจปัจจุบันและอนาคต เช่น การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการใช้พลังงานสะอาด และการให้คำปรึกษาเรื่องมาตรฐานโรงแรมสีเขียวจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการลงนามร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ออกโครงการ “ส่งเสริมศักยภาพด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (CF-Hotels)” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักให้มีแหล่งเงินทุนสามารถใช้ปรับปรุงธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ในฐานะสถาบันการเงินของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนภาครัฐ ให้สามารถดำเนินนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุด ด้วยการเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) จึงจัดได้ว่าเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันผลลัพธ์เชิงบวกต่อภาคธุรกิจ และภาคเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ต.ค. 2567 เวลา : 09:12:22
24-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2025, 10:21 pm