การค้า-อุตสาหกรรม
อธิบดีอรมน รับโล่เกียรติยศจาก UN Women รางวัลหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและศักยภาพของผู้หญิง


กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รับการยกย่องจาก UN Women เป็นองค์กรภาครัฐที่เป็นแบบอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ความยั่งยืนและส่งเสริมหลักการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง พร้อมรับมอบโล่เกียรติยศจากคุณ Christine Arab ผู้อำนวยการ UN Women สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและผู้แทนประจำประเทศไทย แสดงถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานภาครัฐลำดับต้นของประเทศที่เห็นและให้ความสำคัญ/คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ พร้อมสนับสนุนศักยภาพสตรีให้ก้าวสู่การเป็นผู้บริหารในองค์กร

 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 ได้เข้ารับโล่เกียรติยศจากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Woman) ที่มอบให้หน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและศักยภาพของผู้หญิง ภายในงาน Thailand Women’s Empowerment Principles (WEPs) Awards ประจำปี 2567 จัดขึ้นโดย UN Women โดยการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) รัฐบาลออสเตรเลีย ณ โรงแรม The berkeley โดยมี ดร.แองเจลล่า แมคโดนัล (Dr.Angela Macdonald) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เป็นประธาน โดยรางวัลนี้มอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะที่เป็นองค์กรภาครัฐซึ่งเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ความยั่งยืนและส่งเสริมหลักการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง โดยเฉพาะการส่งเสริม SME และกลุ่มธุรกิจสตรีในภูมิภาค ซึ่งกรมมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ จังหวัดปัตตานี มีการอบรมให้ความรู้ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และแสดงสินค้าพื้นถิ่นของกลุ่มธุรกิจสตรีชายแดนใต้ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการสตรีรายย่อม/รายย่อย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรี และกลุ่มนักธุรกิจสตรีท้องถิ่น เป็นต้น
 

 
อธิบดีอรมน เพิ่มเติมว่า กรมได้วางแนวทางการพัฒนาธุรกิจกลุ่มสตรีทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค 3 แนวทาง คือ 1) ปั้นธุรกิจให้แข็งแรง สร้างความรู้ด้านการตลาด ตั้งแต่เริ่มต้นวิธีก่อร่างสร้างธุรกิจของ SME, ทำอย่างไรให้สินค้า/บริการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้าง รวมถึงการบริหารระบบหลังบ้านให้มีความเป็นมืออาชีพ โดยกรมได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจและการจัดระบบบัญชีให้มีมาตรฐาน พร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดน่าสนใจ เพื่อสื่อสารถึงสินค้าได้อย่างชัดเจน 2) เพิ่มช่องทางขายสินค้า สร้างโอกาสทางการค้าดึง ‘ของดี’ ในท้องถิ่นที่มีอยู่จำนวนมากให้เป็น ‘ของเด่น’ ในประเทศ พร้อมกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท และ 3) เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ เมื่อธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างมืออาชีพและมีช่องทางการขายสินค้าที่หลากหลายแล้ว การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องมีการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ทั้งการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตวัตถุดิบ ร้านค้าส่ง/ห้างสรรพสินค้า/เทรดเดอร์/บายเออร์ที่ช่วยกระจายสินค้า หรือแม้กระทั่งธุรกิจในประเภทเดียวกันก็สามารถรวมตัวเพื่อเกื้อกูลทางธุรกิจกันได้

 
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า รางวัลที่ได้รับสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกรมที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและความเสมอภาคระหว่างเพศ การมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ การไม่อคติต่อเพศ และการส่งเสริมศักยภาพบุคคลที่มีความโดดเด่นให้ทำงานตรงตามความรู้ความสามารถจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและประเทศชาติอย่างแท้จริง รวมทั้ง การสนับสนุนศักยภาพสตรีให้ก้าวสู่ระดับผู้บริหารในองค์กร นับเป็นการเปิดมุมมองการบริหารราชการใหม่ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสมดุลระหว่างเพศ ปัจจุบันกรมฯ มีสตรีที่ดำรงตำแหน่งระดับบริหารระดับกลางขึ้นไป จำนวน 13 คน จากผู้บริหารทั้งสิ้น 28 คน คิดเป็นร้อยละ 47 นับเป็นความสมดุลด้านการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาองค์กรแบบองค์รวมที่ครบถ้วนทุกมิติ

 
นอกจากนี้ ภายในงาน Thailand WEPs Awards 2024 ยังได้มีการมอบรางวัล 7 สาขา ได้แก่ * สาขาผู้นำองค์กรที่สนับสนุนความความเสมอภาคระหว่างเพศ * สาขาสถานที่ทำงานที่มีความความเสมอภาคระหว่างเพศ * สาขาการตลาดที่คำนึงถึงมิติทางเพศ * สาขาการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านกิจกรรมชุมชนและอุตสาหกรรม * สาขาความโปร่งใสและการรายงาน * สาขาการจัดการเงินอย่างมีนวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางเพศ และ * รางวัล SME Champion

 
ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับเกียรติให้เป็นผู้มอบรางวัลสาขาการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านกิจกรรมชุมชนและอุตสาหกรรม (Community Engagement and Partnerships) 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศโดย บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองโดย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

 
อธิบดีอรมน เพิ่มเติมว่า กรมขอขอบคุณองค์กร UN Women และ คณะผู้จัดงาน WEPs ที่เห็นถึงความเสมอภาค/ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งสอดรับกับบริบททางสังคมในโลกปัจจุบัน รวมถึง เห็นถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการสตรี ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่ส่งให้กรมเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการสตรีอย่างต่อเนื่อง

 
 
ทั้งนี้ UN Women เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง UN Women เป็นองค์กรชำนาญพิเศษขององค์การสหประชาชาติที่ทำงานเพื่อผู้หญิงและเด็กหญิง มีหน้าที่เร่งรัดความคืบหน้าในการตอบสนองความต้องการของผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลก

 
 
WEPs Awards เป็นรางวัลเพื่อส่งเสริมคุณค่าและยกย่องความพยายามของบุคคลและภาคเอกชนที่สนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศในธุรกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีจุดเริ่มต้นจากโครงการ WeEmpowerAsia ของ UN Women ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรประหว่างปี 2562-2565 สำหรับรางวัล Thailand WEPs Awards ประจำปี 2567 จัดขึ้นภายใต้โครงการใหม่ของ UN Women ที่มีชื่อว่า ‘Gender Action Lab: Innovation and Impact for Gender Equality in Asia-Pacific’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าแห่งออสเตรเลีย (DFAT) สำหรับประเทศไทย UN Women ร่วมมือกับภาคีในประเทศ ได้แก่ องค์กร Advantage Austria Bangkok สมาคมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (UN Global Compact Thailand) เพื่อผลักดันวาระการเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศในภาคเอกชน และร่วมเป็นเจ้าภาพจัดพิธีมอบรางวัล WEPs Awards ประจำปี 2567 ของประเทศไทย
 

#SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ต.ค. 2567 เวลา : 19:25:15
22-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 22, 2024, 12:32 pm