วิทยาศาสตร์
นักวิจัย นาโนเทค สวทช. คว้ารางวัล "นักเทคโนโลยีดีเด่น 2567"


 
นักวิจัย นาโนเทค สวทช. พาผลงานวิจัยอย่าง “กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์” คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 จัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมกันนี้ผลงาน “โฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิด” จากนักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ร่วมผ่านเข้ารอบสุดท้าย โดยภายในงาน ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช., ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. พร้อมด้วย ศ.ดร. ศิวพร มีจู สมิธ รองผู้อำนวยการนาโนเทค สวทช. ร่วมแสดงความยินดี

 
การสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติหรือเชิงพาณิชย์ได้จริงอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีของประเทศ ส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลก มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้มีการพิจารณาคัดเลือกผลงานและมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่องทุกปีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักวิชาการและนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถจำนวนมากในประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว

 
ในปีนี้ ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ซึ่งได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 กับผลงานวิจัยเรื่อง กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ โดยมี นักวิจัย สวทช. ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 อีก 1 ราย คือ ดร.อัญชลี มโนนุกุล จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กับผลงานวิจัยเรื่อง โครงการกระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิดโดยใช้กระบวนการชุบสารแขวนลอย บนต้นแบบโฟมพอลิเมอร์และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์

เข็มขนาดไมครอน “Game Changer” ของวงการสุขภาพ

 
ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ จากทีมวิจัยระบบหุ่นยนต์และเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ไมโครนีดเดิล หรือเข็มขนาดไมโครเมตร เป็นนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์และการดูแลสุขภาพอย่างกว้างขวาง เทคโนโลยีนี้มีขนาดเล็กมาก โดยเข็มมีขนาดเพียงหนึ่งในสิบของเส้นผมมนุษย์ และมีปลายเข็มที่เล็กมากจนสามารถเจาะผ่านชั้นผิวหนังเพื่อส่งสารสำคัญได้โดยไม่สร้างความเจ็บปวด ไม่ทำให้เกิดบาดแผล หรือทิ้งร่องรอยใด ๆ ไว้บนผิวหนัง การพัฒนาไมโครนีดเดิลจึงนับเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของทั้งวงการแพทย์และความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาแบบดั้งเดิม เช่น ผู้ที่มีความกลัวเข็ม หรือผู้ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนหรือยาบ่อยครั้ง แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมได้ยากคือกระบวนการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งยังมีความซับซ้อนและมีต้นทุนสูง การผลิตเข็มขนาดเล็กในจำนวนมากอย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำในระดับไมโครเมตรเป็นสิ่งที่ต้องการเทคโนโลยีเฉพาะทาง การแก้ปัญหาในด้านการผลิตจึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการนำเทคโนโลยีไมโครนีดเดิลไปสู่การใช้งานจริง
 
 
ผลงานวิจัยเรื่อง กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับกระบวนการผลิตไมโครนีดเดิลให้รวดเร็วขึ้น สามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากขึ้น และปรับแต่งคุณสมบัติของเข็มได้ตามต้องการ เทคโนโลยีการผลิตใหม่นี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มความเร็วในการผลิตมากขึ้นถึง 25 เท่าของวิธีการเดิม แต่ยังสามารถปรับแต่งรูปร่างของเข็ม ขนาด ความยาว จำนวนเข็มต่อพื้นที่ และคุณสมบัติอื่น ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น ทำให้สามารถออกแบบไมโครนีดเดิลที่เหมาะสมกับการใช้งานเฉพาะด้าน เช่น การนำส่งยาแก้ปวด สารบำรุงผิว คลื่นแสงหรือคลื่นไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย หรือแม้กระทั่งการใช้ไมโครนีดเดิลเพื่อวัดค่าทางชีวภาพในร่างกายของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ ยังเป็นมิตรกับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ช่วยให้สามารถผลิตไมโครนีดเดิลในปริมาณมากได้ในเวลาอันสั้น พร้อมทั้งมีคุณภาพสูงและผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับเครื่องมือแพทย์
 

 
หนึ่งในนวัตกรรมที่โดดเด่นของเทคโนโลยีไมโครนีดเดิลนี้คือ "ไมโครสไปก์เทคโนโลยี" ซึ่งเป็นชื่อเรียกของเทคโนโลยีการผลิตไมโครนีดเดิลบนแผ่นวัสดุ ไมโครสไปก์เทคโนโลยีสามารถนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาทิ  แผ่นไมโครนีดเดิลสำหรับนำส่งยาแก้ปวด แผ่นลดเลือนริ้วรอย หรืออุปกรณ์นำส่งสารบำรุงผิว ที่สามารถส่งสารผ่านผิวหนังได้โดยไม่ทำให้เจ็บปวด และไม่ทิ้งร่องรอยบนผิวหนัง นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต เช่น การตรวจวัดสารชีวภาพภายในร่างกาย หรือการนำส่งวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย

โฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิด” ตอบความต้องการอุตสาหกรรมสุขภาพ

 
ดร.อัญชลี มโนนุกุล จากทีมวิจัยโลหะผสมและการผลิตอัจฉริยะ กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ผลงานวิจัยเรื่อง โครงการกระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิดโดยใช้กระบวนการชุบสารแขวนลอย บนต้นแบบโฟมพอลิเมอร์และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นการต่อยอดผลงานวิจัยของเอ็มเทคเอง สู่โครงการร่วมวิจัยระหว่างเอ็มเทคและบริษัท ไทเซ โคเกียว (ประเทศไทย) จำกัด

 
แผ่นหรือก้อนไทเทเนียม เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับเครื่องทำน้ำด่าง โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในอดีตใช้แผ่นไทเทเนียมที่เจาะรูจำนวนมากมาต่อกัน เนื่องจากแผ่นไทเทเนียมมีพื้นที่จำเพาะต่ำ ทำให้อัตราในการทำปฏิกิริยาต่ำ และการผลิตที่ควบคุมไม่ดี ทำให้ชิ้นงานเปราะ จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยในการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมที่ลดการปนเปื้อนระหว่างกระบวนการผลิตและผลิตได้จริง

 
จุดเด่นของการวิจัยและพัฒนานี้คือ การคัดเลือกสารเพิ่มความหนืดและต้นแบบที่เหมาะสม ไม่ปนเปื้อนกับไทเทเนียม, การควบคุมกระบวนการผลิตให้สามารถผลิตโฟมไทเทเนียมที่คงรูป มีรูพรุนสม่ำเสมอ และมีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี, การปรับกระบวนการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับประลองและการผลิตเชิงพาณิชย์ และกระบวนการผลิตต้องไม่ปล่อยมลภาวะเป็นพิษและปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว นำสู่โฟมไทเทเนียมที่ทำให้เครื่องทำน้ำด่างมีขนาดเล็กลง และอัตราการผลิตน้ำด่างสูงขึ้น

 
ในขณะเดียวกัน จากศักยภาพของทีมวิจัยทำให้เอ็มเทคเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านการเผาผนึกผงไทเทเนียม ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ยากและซับซ้อนมากที่สุด โดยมีผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเผาผนึกไทเทเนียมสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะทางการฉีดขึ้นรูปโลหะผงในปี พ.ศ. 2547 นำสู่โรงงานสาธิตเทคโนโลยีการฉีดขึ้นรูปโลหะผงแบบครบวงจรแห่งแรกและยังคงเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย มี ดร.อัญชลี มโนนุกุล เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการฯ ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ต.ค. 2567 เวลา : 19:36:34
08-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 8, 2024, 4:25 am