นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ การเกษตรในเขตภาคเหนือส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อสวนไม้ผลของเกษตรกรได้รับความเสียหาย เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะส้มเขียวหวาน ส้มโอ ลำไย และทุเรียน ซึ่ง ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยต่อเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างมากจึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร เสนอแนวทางการป้องกันการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืช และเชื้อรา หลังน้ำลด พร้อมกับเร่งให้หน่วยงานในพื้นที่ ระดมกำลังเพื่อเร่งสกัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ได้รับความเสียหายจากมวลน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และสุโขทัย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 กรมวิชาการเกษตร ได้เชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแก้ไขผลกระทบจากมวลน้ำที่ท่วมขังในสวนไม้ผลที่ส่งผลกระทบต่อระบบรากพืชทำให้รากพืชไม่สามารถดูดซึมธาตุอาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิต ในสภาพน้ำท่วมทำให้ต้นอ่อนแอ สลัดผล และจะพบการเข้าทำลายซ้ำเติมของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ง่ายขึ้น ทำให้ต้นและผลผลิตเสียหายอย่างรุนแรงจากโรคผลเน่า ผลร่วงที่เกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น ฟิวซาเรียม โรครากเน่าโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งบูรณาการการทำงาน เพื่อสกัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉิน โดยหากไม่ดำเนินการป้องกันอย่างทันท่วงทีจะก่อให้เกิดความเสียหายโดยยืนต้นตายในที่สุด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้เสนอ “โครงการฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วมของส้มเขียวหวาน ส้มโอ ทุเรียน และลำไย” โดยได้เริ่มดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และสุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่รวม 6,600 ไร่ และหน่วยงานในพื้นที่ได้ลงสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567 ได้แนะนำให้เกษตรกรระบายน้ำและความชื้น พรวนดินโดยระวังไม่ให้โดนรากเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืชปรับสภาพพื้นที่เพื่อการระบายน้ำที่ดี ห้ามใช้เครื่องจักรหนักในพื้นที่หลังน้ำท่วม ทำความสะอาดและกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นเพื่อลดการเกิดโรครากเน่าโคนเน่า และในระหว่างการฟื้นฟูควรระมัดระวังการให้น้ำไม่ให้เกินความต้องการของพืช ตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งเป็นการลดการคายน้ำของพืชและเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น สำหรับไม้ผลที่กำลังติดผลให้ปลิดผลออกเพื่อลดการใช้อาหารในต้นพืช รวมทั้งพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่พืชเพื่อช่วยให้ต้นพืชตั้งตัวเร็วขึ้น โดยควรพ่นปุ๋ยทางใบหรือปุ๋ยเกล็ดสูตรเสมอสูตร 20-20-20 หรือ 21-21-21 อัตราตามคำแนะนำข้างฉลาก พ่นทุก 10 วัน จนกระทั่งต้นแตกใบอ่อนจนเป็นใบเพสลาด สำหรับปัญหาการเกิดโรคที่ควรระวังและการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า ให้ตรวจสอบรอยแผลที่โคนต้น หากพบรอยซ้ำสีน้ำตาลและรากเน่าถอดปลอก ให้ถากเนื้อเยื่อที่เสียออกแล้วทาด้วยเมตาแลกซิลหรือกรดฟอสฟอริก ตามอัตราแนะนำนฉลาก และบำรุงรักษาระบบรากด้วยชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มา
“กรมวิชาการเกษตรได้ให้ความสำคัญต่อความห่วงใยเกษตรกรตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรเร่งสำรวจความเสียหายเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ชีวภัณฑ์ รวมถึงสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อสกัดกั้นการระบาดอย่างเร่งด่วนของโรคและแมลงศัตรูพืชอย่างฉุกเฉินทันต่อสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชสามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้จากหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2 579 -8540” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ข่าวเด่น