ซีเอสอาร์-เอชอาร์
KKP จับมือเชฟชื่อดังจัด Chef's Table สำหรับลูกค้า ส่งต่อการให้สู่ 'กลุ่มลูกเหรียง'


 

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จับมือกับเชฟชั้นนำระดับประเทศ เชฟตาม-นางสาวชุดารี เทพาคำ จาก Baan Tepa, เชฟปริญญ์-นายปริญญ์ ผลสุข จาก Samrub Samrub Thai และเชฟแบล็ค-นายภานุภน บุลสุวรรณ จาก Blackitch ร่วมสร้างสรรค์ Chef’s Table ‘Recipe of Giving’ เปิดโอกาสให้เชฟเยาวชนจากสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ ‘กลุ่มลูกเหรียง’ ร่วมสร้างสรรค์เมนูอาหารร่วมกับเชฟ สำหรับลูกค้า KKP Wealth Management เพื่อระดมทุนมอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 
 
 
นายณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ ประธานสายงานที่ปรึกษาและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการ Recipe of Giving สะท้อนถึงความตั้งใจของ KKP ที่จะมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ทั้งในด้านการลงทุน และความมั่งคั่งในมิติอื่นๆ โดยการระดมทุนให้กับกลุ่มลูกเหรียงผ่าน Chef’s Table ในครั้งนี้ เป็นไปตามแนวคิด ‘philanthropy’ ที่เน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และแสดงถึงการจัดการความมั่งคั่งที่ไปไกลกว่าการสร้างผลตอบแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว ภายใต้แนวคิดว่าความมั่งคั่งที่แท้จริงไม่อาจวัดเพียงตัวเลขในบัญชี แต่ยังรวมถึงผลกระทบที่ดีงามต่อสังคมรอบข้าง ซึ่งในที่สุดย่อมสะท้อนกลับมาเป็น well-being ที่แท้จริงของทุกคน
 
 
งานนี้ให้ความเอร็ดอร่อยและความสุนทรีย์แก่ลูกค้า ผ่านเมนูที่เชฟชั้นนำของประเทศนำวัตถุดิบและเมนูท้องถิ่นของกลุ่มลูกเหรียงมาตีความและนำเสนอในแบบไฟน์ไดนิ่ง อีกทั้งยังเป็นโอกาสฝึกทักษะ และสร้างความมั่นใจให้กับเชฟเยาวชนที่มาร่วมในโครงการ ตลอดจนยังเป็นการระดมทุนในลักษณะที่มีความยั่งยืนต่อเนื่อง เพราะต่อยอดมาจากสิ่งที่เป็นความชำนาญ และความต้องการของเยาวชนลูกเหรียง คือการทำอาหาร ที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนให้เข้าใจและใกล้ชิดกันมากขึ้น”
 
 
โครงการทุนการศึกษาสำหรับกลุ่มลูกเหรียง หรือ “สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง)” ก่อตั้งและดูแลโดยนางสาววรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ หรือ ‘ชมพู่’ หนึ่งในผู้ที่สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากเหตุการณ์ความรุนแรง จนนำมาสู่การสร้างที่พักพิงชื่อ ‘บ้านลูกเหรียง’ และสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาสำหรับเด็กในการดูแลของบ้านลูกเหรียง นอกจากนี้ ยังใช้กระบวนการศิลปบำบัดและการทำอาหาร เพื่อบำบัดภาพความทรงจำที่โหดร้ายและพัฒนาศักยภาพของเยาวชน
นางสาววรรณกนก กล่าวถึงความสำคัญของโครงการว่า “เด็กๆ ที่มาอยู่บ้านลูกเหรียงเคยสูญเสียครอบครัวจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ความเจ็บปวดนี้จึงต้องถูกแปลงเป็นพลังในการสร้างอนาคต เปลี่ยนความคับแค้นเป็นความรักในสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด เมื่อทุกคนมีสิ่งที่ชอบร่วมกันนั่นคืออาหาร เราจึงร่วมมือกับเชฟปริญญ์ เชฟแบล็ค และเชฟคนอื่นๆ เพื่อสอนทักษะให้เด็กๆ ได้มีอาชีพ มีรายได้ และสร้างความภูมิใจด้วยตัวเอง ครัวลูกเหรียงเป็นแค่ครัวบ้านๆ ใช้ไม้ฟืน เตาถ่าน เตาแก๊ส แต่มันสร้างรายได้และทำให้ทุกคนมีความสุข
 
 
เราไม่อยากให้ใครเรียกบ้านลูกเหรียงว่าบ้านเด็กกำพร้า เพราะสิ่งที่เราพยายามสร้าง คือผู้นำ ที่บ้านลูกเหรียงมีสโลแกนว่า ‘ฉันมีสิทธ์ที่จะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากความรุนแรง ฉันมีหน้าที่ระวังไม่ให้คนอื่นมาทำร้ายฉัน และระวังไม่ให้ตัวเองไปทำร้ายคนอื่น และฉันจะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าและมีความหมาย’ เราจะทำให้เด็กในบ้านของเราเติบโตเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของตัวเองได้ และในขณะเดียวกัน เราก็ต้องการให้ทุกคนที่มาบ้านลูกเหรียงมีพลัง อิ่มท้อง และกลับไปพร้อมความหวัง"
 
 
เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ จาก Baan Tepa ตัวแทนเชฟ กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “บ้านเทพามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับทาง KKP และกลุ่มลูกเหรียง ที่เปิดโอกาสให้ได้ส่งต่อความรู้ในการทำอาหารแบบ Fine Dining ให้กับทีมครัวลูกเหรียง และบ้านเทพาเองก็ได้เรียนรู้จากน้องๆ ในเรื่องของอาหารใต้แบบท้องถิ่นที่บ้านเทพาไม่เคยได้ลองทำมาก่อน มากกว่านั้นคือการได้รับพลังงานบวกที่น้องๆ ส่งมาให้ตลอดการร่วมงานด้วยกัน”
 
 
นายอิสมาแอ ตอกอย (เชฟดาด้า) หนึ่งในเยาวชนจากบ้านลูกเหรียงที่เข้าร่วมการทำอาหารในครั้งนี้ กล่าวด้วยความภูมิใจว่า "กิจกรรม ‘Recipe of Giving’ กับเชฟแบล็ค เชฟปริญญ์ และเชฟตาม เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมาก ผมได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการทำอาหาร การจัดการวัตถุดิบ และการสร้างสรรค์เมนูอย่างพิถีพิถัน รวมถึงความสำคัญของการใส่ใจในทุกขั้นตอน นอกจากนี้ยังได้สัมผัสถึงความมุ่งมั่นของเชฟทั้งสามที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมมั่นใจว่า การทำอาหารคือสิ่งที่ผมรักและอยากพัฒนาต่อไป เพื่อสร้างความสุขให้ผู้คนและความมั่นคงให้ชุมชนบ้านลูกเหรียงในอนาคต" 
 
 
 
สำหรับกลุ่มลูกเหรียงภายใต้การดูแลของนางสาววรรณกนก เน้นการทำโครงการดูแลกลุ่มเด็กเปราะบางในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยยึดหลักการให้เยาวชนอยู่กับครอบครัว และให้การสนับสนุนด้านต่างๆ รวมไปถึงอาชีพของผู้ปกครองเด็ก นอกจากนี้ ลูกเหรียงยังมีบ้านพักชั่วคราวกึ่งถาวรสำหรับเด็กและสตรีที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่ไม่มีครอบครัวให้พึ่งพาอีกด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ต.ค. 2567 เวลา : 11:07:52
22-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 22, 2024, 12:30 pm