รองนายกฯ ประเสริฐ นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ติดตามความก้าวหน้างานแม่น้ำโขงมอบนโยบายให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมเตรียมดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรี MRC ในปีหน้า
วันนี้ (21 ต.ค. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 1/2567 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถนนเเจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงในช่วงเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบและได้ติดตามแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติและเร่งฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย และในการประชุมวันนี้ได้ติดตามการดำเนินการและความก้าวหน้าของงานแม่น้ำโขง โดยเฉพาะประเด็นข้อห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่าง ๆ จากการพัฒนาโครงการบนแม่น้ำโขงสายประธานที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบนโยบายในการดำเนินการบริหารจัดการแม่น้ำโขง ซึ่งให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย รวมถึงให้มีการส่งเสริมเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลเทคนิคและวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก สำหรับการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคี ควบคู่กับการคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ ในปี 2568 จะได้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะมนตรี ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีฯ ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพความเป็นผู้นำและบทบาทในการบริหาร กำกับ และการขับเคลื่อนองค์กร MRC ผลักดันการดำเนินงานต่าง ๆ ให้มีทิศทางที่เกิดความร่วมมือในภูมิภาคอย่างเข้มแข็งและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงความร่วมมือแก้ไขปัญหาและการกำหนดนโยบายภายใต้กรอบความร่วมมือ MRC โดยเฉพาะการตอบสนองต่อข้อห่วงกังวลของภาคประชาชนไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ให้บรรลุความสำเร็จและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงคณะอนุกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติม เพื่อให้การดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ ด้านประมง สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ด้านเศรษฐกิจ - สังคม เป็นต้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงสอดคล้องกับการดำเนินงานตามกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 พร้อมกันนี้ ได้เห็นชอบเห็นชอบให้มีคณะกรรมการร่วมระหว่าง สทนช. และคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อประสานและกำหนดท่าทีของประเทศไทยร่วมกัน โดยมอบหมายให้ สทนช. พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว นอกจากนี้ ในปี 2568 ประเทศไทยจะส่งบุคคลไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (CEO) ของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านกระบวนการสรรหาและคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว โดยเห็นชอบให้นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เป็นผู้ที่ผ่านเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกระดับภูมิภาคในตำแหน่ง CEO ของ MRCS ต่อไป
ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบเรื่องการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ระหว่าง สทนช. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่ง สปป.ลาว โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และนางบุนคำ วอละจิต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่ง สปป.ลาว เป็นผู้ลงนาม ซึ่งได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศร่วมเป็นสักขีพยานในห้วงการเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการยกระดับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ ระหว่างไทย - ลาว ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดย MOU ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นกลไกในการดำเนินงานด้านน้ำระหว่างสองประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยน แบ่งปันข้อมูลด้านอุตุ - อุทกวิทยา และข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงสร้างด้านน้ำหรือเขื่อนในลุ่มน้ำโขงที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำตอนล่างและส่งผลถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง โดย สทนช. จะหารือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่ง สปป.ลาว ในการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการร่วม (Joint Steering Committee) และการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมระยะ 5 ปี เพื่อดำเนินงานต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับกรอบความร่วมมือต่างประเทศด้านทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนระหว่างประเทศที่มีความสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและระดับภูมิภาค
ข่าวเด่น