เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ส่งออกรถนั่งไทยไปอาเซียนคาดเสียแชมป์ในปี 67 นี้ การเรียกคืนตำแหน่งผู้นำอาจไม่ง่ายในระยะข้างหน้า"


ปริมาณส่งออกรถยนต์รวมปี 2567 คาดติดลบ 6% โดยตลาดหลักอย่างอาเซียนกำลังเสียส่วนแบ่งอย่างชัดเจนในกลุ่มรถยนต์นั่ง ให้กับ BEV จากจีน ไฮบริดจากญี่ปุ่น และรถนั่งเล็กจากอินโดนีเซีย หลังมาตรการรัฐหนุนและผู้ซื้อต้องการรถราคาประหยัด 
 
• ในอนาคต แม้ไทยอาจได้ส่วนแบ่งคืนบ้างหลังการผลิตรถนั่ง BEV และไฮบริดเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ก็มีแรงกดดันจากจีนและญี่ปุ่นที่ยังต้องส่งออก BEV และไฮบริดมาแข่ง ขณะที่การส่งเสริมจากรัฐใกล้จะจบ และค่าย BEV เริ่มผลิตในอินโดนีเซียเพิ่ม  
 
ส่งออกรถยนต์ไทยปี 67 คาดหดตัว 6% นำโดยตลาดหลักอย่างอาเซียน
 
ปี 2567 เป็นหนึ่งปีที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย เพราะนอกจากยอดขายรถยนต์ในประเทศจะหดตัวแรงแล้ว ยอดส่งออกรถยนต์ของไทยก็คาดว่าอาจหดตัวเช่นกันถึง 6% (YoY) เหลือส่งออกได้เพียง 1,050,000 คัน จาก 1,117,539 คันในปี 2566 โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกไปตลาดหลักอันดับ 2 ของไทยอย่างอาเซียนที่ลดลงมาก (ตลาดอาเซียนคิดเป็น 25% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ไทย) นำโดยการหดตัวสูงของการส่งออกรถยนต์นั่งไปอาเซียน ซึ่งช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมาติดลบถึง 19% (YoY) ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์ส่งออกลดลง 3% (YoY) (รูปที่ 1) นั่นแปลว่ารถยนต์นั่งไทยอาจกำลังเจอความเสี่ยงในตลาดนี้


ส่งออกรถยนต์นั่งไทยไปอาเซียนคาดเสียแชมป์ให้จีนและญี่ปุ่นในปีนี้
 
แม้ตั้งแต่ปี 2560 ไทยจะครองตำแหน่งแชมป์ส่งออกรถยนต์นั่งไปอาเซียนมาโดยตลอด ทว่าหลังผ่าน 7 เดือนแรกของปี 2567 มา กลับพบจีนและญี่ปุ่นขยับส่วนแบ่งขึ้นนำไทยได้เป็นครั้งแรก ขณะที่อินโดนีเซียแม้ยังมีส่วนแบ่งน้อยกว่า แต่ก็ขยับเข้ามาใกล้ไทยมากขึ้น (รูปที่ 2)  

 

 

โดยจีนคาดขึ้นอันดับ 1 แทนที่ไทยในตลาดอาเซียนปีนี้ หลังสามารถส่งออกรถยนต์นั่ง BEV ได้เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ญี่ปุ่นขยับขึ้นอันดับ 2 นำโดยการส่งออกรถยนต์นั่งไฮบริด (HEV) อาศัยปัจจัยหนุนสำคัญจากมาตรการส่งเสริมรถยนต์ลดมลพิษของรัฐบาลแต่ละประเทศที่ออกมาในช่วงนี้ (ตารางที่ 1) ส่งผลกดดันให้ไทยตกลงมาอยู่อันดับ 3 เนื่องจากไทยเพิ่งเริ่มผลิต BEV และแม้จะมีการผลิตรถยนต์นั่งไฮบริดแล้ว แต่ที่ผลิตได้ก็เน้นรองรับตลาดในประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นก่อน 

 
ขณะที่อินโดนีเซียแม้ปัจจุบันอยู่ในอันดับ 4 แต่พบการส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กใช้น้ำมันล้วน (ICE) ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนแบ่งขยับเข้าใกล้ไทยมากขึ้น หลังความต้องการรถยนต์นั่งขนาดเล็กหรือรถอเนกประสงค์ราคาประหยัดเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรรายได้ยังไม่สูงนัก เช่น ฟิลิปปินส์และเวียดนาม (รูปที่ 3)



อนาคตการกลับสู่ผู้นำส่งออกรถนั่งไปอาเซียนยังมีอีกหลายปัจจัยลบรออยู่ 
 
ในระยะข้างหน้า การส่งออกรถยนต์นั่ง BEV และไฮบริด อาจเร่งขึ้นมาช่วยชดเชยได้ หลังไทยมีแนวโน้มผลิตรถยนต์นั่ง BEV และไฮบริด ในประเทศได้มากขึ้น จากการสนับสนุนของภาครัฐ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอีกหลายด้านที่การส่งออกรถยนต์นั่งไทยอาจต้องเผชิญในอนาคต ได้แก่
ความเสี่ยงฝั่งอุปทาน
 
• ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯที่ยืดเยื้ออาจกดดันให้จีนยังคงต้องส่งออก BEV มายังตลาดเป้าหมายเดิมของไทยอย่างอาเซียนต่อ ทำให้การส่งออก BEV จากไทยในอนาคตยังคงต้องเจอการแข่งขันต่อไปอยู่
 
• รถยนต์นั่งส่งออกจากญี่ปุ่นกำลังถูก BEV จีนเข้าตีตลาดในหลายประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นต้องกระจายการส่งออกไฮบริดซึ่งเป็นตัวหลักออกไปยังหลายตลาดมากขึ้นรวมถึงอาเซียน เพื่อรักษาปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศ ทำให้โอกาสการลงทุนผลิตรถยนต์นั่งไฮบริดในไทยปริมาณมากเพื่อการส่งออกในอนาคตยังมีความไม่แน่นอน
ความเสี่ยงฝั่งอุปสงค์
 
• มาตรการส่งเสริมรถยนต์นั่ง BEV และไฮบริด ของตลาดศักยภาพอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ อาจหมดในสิ้นปีหน้า ทำให้โอกาสนำเข้า BEV และ ไฮบริด ของตลาดอาเซียนอาจไม่เร่งตัวมากเหมือนช่วงที่ผ่านมา แม้จะยังมีเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่คงมาตรการส่งเสริมตลาดรถยนต์นั่ง 2 กลุ่มนี้ต่อถึงปี 2570 และ 2571 ตามลำดับ ก็ตาม 
 
• ค่ายรถ BEV ที่ลงทุนผลิตในไทยมีการลงทุนผลิตเพิ่มในอินโดนีเซียด้วยเพื่อรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้โอกาสส่งออก BEV จากไทยไปอีกตลาดศักยภาพอย่างอินโดนีเซียลดน้อยลง รวมถึงไทยอาจเจอการแข่งขันจาก BEV ส่งออกจากอินโดนีเซียในอนาคตด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ต.ค. 2567 เวลา : 14:16:55
11-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 11, 2024, 6:04 am