การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส กับทางช้างเผือก และดาวศุกร์ เหนือสองพระมหาธาตุฯ ดอยอินทนนท์ เชียงใหม่


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยภาพดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส กับทางช้างเผือก และดาวศุกร์ เหนือพระธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และภาพหางฝุ่น หางแก๊ส และ anti-tail ยาวกว่าสิบองศา คืนวันที่ 23 ตุลาคม 2567

ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) โคจรมาใกล้โลกที่สุดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ และยังคงสังเกตการณ์ได้จนถึงประมาณปลายเดือนตุลาคม เนื่องจากดาวหางจะปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานขึ้น ทำให้มีเวลาสังเกตการณ์มากขึ้น แต่ความสว่างจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ

สำหรับภาพถ่ายดาวหางระยะใกล้ ในภาพปรากฏให้เห็นโคมา (coma) ชั้นฝุ่นและแก๊สที่ห่อหุ้มนิวเคลียส รวมถึงหางที่ทอดยาวออกไป หางของดาวหาง คือแก๊สและอนุภาคฝุ่นที่ถูกปล่อยออกมาจากนิวเคลียส ประกอบด้วยหางฝุ่น และหางแก๊ส นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตเห็น anti-tail ซึ่งหาชมได้ยาก ปรากฏบริเวณด้านซ้ายของหัวดาวหางอีกด้วย

ผู้สนใจ ช่วงนี้นับเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะติดตามชมดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ก่อนจะโคจรห่างจากโลกนี้ไปและไม่กลับมาอีก ดาวหางจะปรากฏในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก บริเวณทางขวาของดาวศุกร์ (ดาวที่ปรากฏสว่างที่สุดในช่วงนี้ทางทิศตะวันตก) ชมได้ทั่วประเทศ หากท้องฟ้าใสไร้เมฆ และอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีแสงรบกวน

 
ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ค้นพบครั้งแรกช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 โดยนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวจื่อจินซาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS ประเทศแอฟริกาใต้ นักดาราศาสตร์ทั่วโลกได้เฝ้าติดตามสังเกตการณ์ และพบว่าความสว่างปรากฏมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนต่อมาได้กลายเป็นดาวหางอันโดดเด่นแห่งปี พ.ศ. 2567

อ่านข้อมูลดาวหางเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ต.ค. 2567 เวลา : 14:33:49
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:08 am