ตามมติจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% ต่อปี เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูง และส่งเสริมการบริโภคภาคเอกชนในประเทศ ล่าสุดทางธนาคารพาณิชย์-ธนาคารของรัฐ ได้ขานรับมาตรการดังกล่าว ด้วยการประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท สูงสุด 0.25% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ส่วนบุคคลและผู้ประกอบการ SME ให้ดีขึ้น
1.ธนาคารออมสิน
ทางธนาคารออมสิน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยทุกประเภท มีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป ประกอบด้วย
• ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ลดลงเหลือ 6.900% ต่อปี
• ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือ 6.745% ต่อปี
• ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะครบกำหนดมาตรการในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นี้ ก็จะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อยู่ที่อัตรา 6.595% ต่อปี และเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ย MRR ครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2567เป็นต้นไป
• อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะยังคงตรึงดอกเบี้ยไว้ในอัตราเดิมให้ได้นานที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากอัตราดอกเบี้ย ภายใต้ภารกิจเพื่อสังคมในการมุ่งส่งเสริมการออม ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล
2.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
สำหรับทาง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ มีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป ได้แก่
• อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา(MLR) ลดลงเหลือ 6.250% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือ 6.400% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะครบกำหนดมาตรการในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นี้ จะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน มาอยู่ที่ 6.545% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะมีการตรึงดอกเบี้ยไว้ในอัตราเดิมให้ได้นานที่สุด เพื่อส่งเสริมการออมภาคประชาชนต่อไป
3.ธนาคารพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ธ.ก.ส. ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR ลงสูงสุดร้อยละ 0.25 มีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป ตามทิศทางแนวโน้มตลาด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีการปรับลดดังนี้
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) สำหรับลูกค้าทั่วไปลดลง 0.1% เหลือ 6.875% ต่อปี และในกลุ่มเปราะบางและ SME ที่ประสบปัญหาในการผลิต รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลดลง 0.25% เหลือ 6.725% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 เดือน
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี ประเภทเงินเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือ 6.875% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ยังมีการตรึงไว้ที่ระดับเดิม เพื่อส่งเสริมวินัยการออมเงิน และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับลูกค้าของธนาคาร
4.ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% มีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นไปตามกลไกของตลาด สอดคล้องกับบริบทของประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนในระดับที่สูงและเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ต่ำ ตามรายละเอียด ดังนี้
• อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลด 0.25% จากปัจจุบัน 7.520% ต่อปี เป็น 7.270% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลด 0.125% จากปัจจุบัน 7.050% ต่อปี เป็น 6.925% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลด 0.125% จาก 7.30% เป็น 7.18% จากปัจจุบัน 7.570% ต่อปี เป็น 7.445% ต่อปี
5.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
EXIM BANK ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ลง 0.25% ต่อปี เหลือ 6.35% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ของธนาคารพาณิชย์ นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาภาระผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบาง และ SME ให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ สามารถปรับตัวรับมือปัจจัยท้าทายและแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกอย่างยั่งยืน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
6.ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกสิกรไทย นำร่องธนาคารพาณิชย์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสูงสุด 0.25% มีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยดูแลและเพิ่มสภาพคล่องโดยการแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการรายเล็กที่รายได้ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวและภาระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง
• อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลด 0.12% จาก 7.27% เป็น 7.15% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลด 0.25% จาก 7.59% เป็น 7.34% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลด 0.12% จาก 7.30% เป็น 7.18% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ยังไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ธนาคารยังขยายระยะเวลาสำหรับโครงการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติมให้สามารถปรับตัวในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนและยังคงมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย
7.ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.575% ลดเป็น 7.325% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.30% ลดเป็น 7.175% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.05% ลดเป็น 6.925% ต่อปี
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ออกมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SME รายย่อย ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2567 ถึง 15 พฤศจิกายน 2567 นั้น ธนาคารได้พิจารณาขยายมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567
8.ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี)
ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท สูงสุด 0.25% ต่อปี ตามมติ กนง. เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับประชาชน ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป มีรายละเอียด ดังนี้
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลง 0.25% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ลดลง 0.125% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดลง 0.125% ต่อปี
สำหรับลูกค้ารายย่อยและ SME ในกลุ่มเปราะบาง ทีทีบีมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้มาก่อนหน้า นอกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ธนาคารยังมีการต่ออายุมาตรการออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567 เพื่อช่วยพยุงสภาพคล่องและลดภาระหนี้ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบางให้ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราที่ประกาศอีก 0.25% ซึ่งทำให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าว มีอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงรวม 0.375-0.50% ต่อปี ทั้งนี้ ธนาคารยังมีแผนที่จะปรับมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามความเหมาะสม เมื่อมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง
9.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี สนองนโยบายรัฐบาลในการลดภาระทางการเงินของประชาชน โดยได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยดูแลและเพิ่มสภาพคล่องโดยการแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยใหม่ดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป มีรายละเอียดดังนี้
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดลงจาก 7.280% เป็น 7.155% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลดลงจาก 7.575% เป็น 7.325% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลดลงจาก 7.400% เป็น 7.275% ต่อปี
10.ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก โดยอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อปรับลดลงสูงสุด 0.20% ประกอบด้วย
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดลง 0.20% เป็น 6.90% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลดลง 0.20% เป็น 7.35% ต่อปี
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลดลง 0.05% เป็น 7.00% ต่อปี
• เงินฝากลูกค้าบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสะสมทรัพย์ เป็น 0.25-0.30% ต่อปี เงินฝากประจำ 3 เดือน เป็น 1.00% ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน เป็น 1.10% ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน เป็น 1.45% ต่อปี เงินฝากประจำ 24 เดือน เป็น 1.70% ต่อปี และเงินฝากประจำ 36 เดือน เป็น 1.75% ต่อปี ส่วนเงินฝากสะสมทรัพย์ e-Saving วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท 1.50% ต่อปี และวงเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท 0.45% ต่อปี
ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพก็ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ไปแล้ว 0.25% ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของทั้งธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์ครั้งนี้ นับเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้และผู้ประกอบการรายเล็ก ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตในอัตราที่ต่ำ ให้สามารถผ่อนหนี้ได้ไวขึ้นและจ่ายดอกเบี้ยที่น้อยลง ส่งผลให้เกิดสภาพคล่องที่ขยายตัว การบริโภคในประเทศดีขึ้น อันเป็นการดึงดูดการลงทุน และช่วยพยุงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น