นายลูโดวิค เซอร์บราน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของกลุ่มอลิอันซ์ เผยมุมมองเศรษฐกิจโลก ปี 2568 คาดเติบโตในระดับปานกลางในอัตราเฉลี่ย 2.8% ต่อปี แต่อาจได้รับผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยน การลงทุน และอัตราดอกเบี้ยที่หยุดชะงัก หาก “โดนัล ทรัมป์” ได้กลับคืนตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้านเศรษฐกิจไทยคาดปีนี้เติบโตถึง 2.7% และ 3.1% ในปี 2568 แต่อาจเผชิญเข้ากับความเสี่ยง ด้านการค้ากับจีน การท่องเที่ยวกับยุโรป และความท้าทายของศักยภาพตลาดทุนไทย จากอิทธิพลของการเมืองสหรัฐฯ แนะให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ จัดสรรงบประมาณให้มีคุณภาพ เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศ
ในด้านภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาถือว่ามีอิทธิพลที่จะกำหนดทิศทางภาพรวมของเศรษฐกิจ และนโยบายทางการเงินของแต่ละประเทศในปี 2568 ซึ่งนายลูโดวิค ชี้ถึงความเป็นไปได้ ที่โดนัล ทรัมป์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไป จากพรรครีพับลิกัน จะได้รับชัยชนะในวันที่ 5 พ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ ด้วยนโยบายเชิงอนุรักษ์นิยม เป็นความเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดความเปราะบาง (Vulnerable moment) ต่อตลาดทุนและภาคธุรกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากทรัมป์ ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะ “Neo-isolationism” ที่โฟกัสประโยชน์ที่สหรัฐฯ จะได้รับเป็นหลัก ไม่สนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในประเทศอื่น สะท้อนจากความมุ่งมั่นให้ค่าเงินดอลลาร์มีความแข็งค่ามากขึ้น ด้วยการทำ Trade War ตั้งกำแพงภาษีโดยเฉพาะจากจีนถึง 30% (ในขณะที่ทั่วโลกขึ้น 10%) การส่งผู้อพยพชาวลาตินกลับประเทศ และมาตรการที่เร่งให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับมาพุ่งขึ้นสูงอีกครั้ง ขัดต่อการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ได้เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้แล้ว
โดยจะทำให้เกิดการหยุดชะงักของการลดอัตราดอกเบี้ย เพราะต้องกลับมาแก้ปัญหาเงินเฟ้ออีกครั้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯกลับมาตกต่ำได้ แม้ช่วงแรก ๆ เศรษฐกิจดูเหมือนจะคึกคักขึ้นก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงผลดีในระยะสั้น ๆ แต่ในระยะยาวนั้น มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังทั่วโลก เพราะตั้งแต่ Fed ได้เริ่มลดอัตราดอกเบี้ย ก็ทำให้เกิดวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในหลาย ๆ ประเทศ เป็นผลดีต่อการช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน และวงจรสินเชื่อเครดิตเติบโต ผู้คนมีสภาพคล่องมากขึ้น ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนก็กลับเข้ามา โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market หรือ EM) ที่ได้อานิสงส์จาก Fund Flow ที่ไหลเข้ามาจากตลาดสหรัฐฯ ฉะนั้นการที่ Fed หยุดลดดอกเบี้ย จะทำให้ธนาคารกลางประเทศอื่น ที่กำลังทยอยปรับลดดอกเบี้ยตาม Fed มีช่องว่างของผลตอบแทน ที่เงินลงทุนจะไหลกลับไปยังตลาดสหรัฐฯ (เพราะค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า)
“ฉะนั้นความเสี่ยงหากทรัมป์ ได้กลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทำให้มีโอกาสที่ Fed หยุดลดอัตราดอกเบี้ย และนโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้า เป็นแรงกดดันเงินบาทอ่อนค่าลง 2% แต่ช่วงระยะเวลานี้ ถึงช่วงก่อน 5 พ.ย. ที่จะประกาศผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ก็จะมีความไม่แน่นอนอยู่ ส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงประมาณ 5% จากระดับปัจจุบัน” นายลูโดวิค กล่าว
ส่วนเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะเยอรมัน ประเทศที่เป็นกงล้อสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจยุโรป กำลังเผชิญเข้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อีกทั้งวิกฤตด้านพลังงานก่อนหน้านี้ ทำให้ภาพรวมของยุโรป การลงทุน Capital Investment ต่ำลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2019 (ในขณะที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 10%ในช่วงเวลาเดียวกัน) ด้วยส่วนต่างถึง 17% ของเม็ดเงินลงทุน รวมถึง Productivity ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งมากกว่า ขณะที่ยุโรปไม่ได้ลงทุนในเรื่องนี้เท่าที่ควร ทำให้ในขณะนี้ทางฝั่งฝรั่งเศส อิตาลี และเบลเยี่ยม มีการเตรียมปรับนโยบายขาดดุล จากความกังวล Cost of Finance หรือการบริหารงบประมาณของทางรัฐบาล ที่อาจย่ำแย่ลงหากทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิปดีของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ด้วยเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ทำให้การออมของคนยุโรปเพิ่มมากขึ้น โดยเยอรมันมีการออม 18% ฝรั่งเศส 16% (ขณะที่สหรัฐมีการออม 4% สหราชอาณาจักร 4%) สะท้อนถึงว่าพวกเขาไม่มั่นใจเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำลง มีการปฏิรูประบบบำนาญ และการเก็บภาษีที่มากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะประกันความมั่งคั่งไว้กับตัว มากกว่าออกมาลงทุนและใช้จ่าย ดังนั้นตอนนี้สิ่งที่คนยุโรปสนใจคือปัญหาปากท้องของตัวเอง ดังนั้นจึงมีส่วนที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปอาจมาไทยลดต่ำลง และอาจไม่ได้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมากนัก
ด้านเศรษฐกิจจีน ในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตในอัตราประมาณ 5% จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบ การออกนโยบายเพื่อช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ และการอัดฉีดเงินให้กับรัฐบาลท้องถิ่นและภาคการเงิน ที่คาดว่าจะส่งผลดีไปถึงปี 2568 ที่ทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.5% แต่การกระตุ้นในระยะยาว ต้องอาศัยการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนภาคเอกชนให้กลับเข้ามา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจของจีน
ทั้งนี้ ด้วยปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดว่าจีนต้องใช้เวลา 5-6 ปี ในการฟื้นคืนเศรษฐกิจ และปัญหาด้านจำนวนประชากร ทำให้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของการส่งออกกลับเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก แม้สหรัฐฯ จะมีการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีนถึง 30% ก็ตาม แต่จีนก็มีความมุ่งมั่นที่จะตั้งตัวเองเป็น Supplier สายการผลิตให้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จึงอาจเห็นจีนกลับมารุกตลาดการส่งออกอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะ แผงโซล่าเซลล์ แบตเตอรี่ และรถยนต์EV โดยเน้นตีตลาดประทศบราซิล เม็กซิโก ตุรกี และประเทศในโซนเอเชีย ซึ่งจะส่งผลดีกับประเทศไทย ที่ทำให้การส่งออกของไทย มีโอกาสส่งออกไปจีน (สายการผลิตเดียวกัน) โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกในภาพรวมจะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 4.2% ในปี 2567 จากการเติบโตที่แข็งแกร่งของอินเดียและประเทศในกลุ่มอาเซียน การผ่อนคลายนโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่เป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารกลาง และการค้าโลกที่ฟื้นตัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจของภูมิภาค ธนาคารกลางของเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียจะยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเชียจะได้ประโยชน์จากพลวัตที่เปลี่ยนไปของโลกาภิวัตน์และการปฏิรูปนโยบายในประเทศ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม ไทย และไต้หวัน จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในภาคการส่งออก และหลายประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจากการกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
มุมมองเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การลงทุนยังจัดว่าไม่ได้เยอะมาก ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลเพื่อดึงดูดการลงทุนจึงมีความสำคัญมากในตอนนี้ เพราะหลายบริษัทในไทยยังคงไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างเต็มที่ รวมถึงวิกฤตพลังงานที่ผ่านมา ก็ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในด้านของอัตรากำไรและผลตอบแทน เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนในธุรกิจไทย
เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตถึง 2.7% ในปี 2567 และ 3.1% ในปี 2568 เมื่อเทียบกับการเติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ความต้องการภายในประเทศยังสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่กำลังปรับตัวดีขึ้น ยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่ง และกิจกรรมการผลิต จากโอกาสที่สามารถส่งออกไปยังประเทศจีน ส่วนภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านภาคธุรกิจก่อสร้าง มีแนวโน้มว่าจะมีโครงการที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสินทรัพย์ในภาคครัวเรือนจะเติบโต แต่ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายทางด้านการเงินที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ โดยสินทรัพย์ทางการเงินรวมลดลง 1.9% ในปี 2566 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในปี 2551 การลดลงของหลักทรัพย์และเงินฝากธนาคารเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลดลงนี้ อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ประเภทประกันและเงินบำนาญมีการเติบโตเล็กน้อย แม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตก็ตาม อัตราหนี้สินที่สูงของประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่ 91% ของจีดีพีที่เป็นตัวเงิน ยังคงเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในภูมิภาค ส่วนระดับหนี้สาธารณะของไทย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มสูงขึ้น โดยอยู่ในอัตราที่ 65% อีกทั้ง Additional debt ก็คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ทำให้หนี้สาธารณะมีโอกาสเติบโตอีก 3-4% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า รัฐบาลจึงควรมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย
นอกจากนี้ การกระจายความมั่งคั่งในประเทศยังคงไม่สมดุลอย่างมาก โดยประชากรกลุ่มมั่งคั่งเพียง 10% เป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางการเงิน 76% ของสินทรัพย์ทางการเงินรวมสุทธิของประเทศ ความไม่เท่าเทียมนี้เกิดขึ้นเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว โดยสถานการณ์แทบไม่ดีขึ้นเลย ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรมากขึ้นในอนาคต
นายลูโดวิค กล่าวว่าทิ้งท้ายว่า "แนวโน้มเศรษฐกิจที่อลิอันซ์คาดการณ์สะท้อนถึงการมองโลกในแง่ดีอย่างระมัดระวังของเราท่ามกลางความท้าทายทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค แม้ว่าการเติบโตคาดว่าจะคงที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เรายังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ วินัยทางการเงิน และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนที่ยังคงมีอยู่ จะยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่เราต้องแก้ไขเพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งในระยะยาว"
ข่าวเด่น