สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นในเอเชียท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดจะไม่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ (นับตั้งแต่ 11 ก.ย. 2567) ที่ระดับ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับภาพการอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียและเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ระยะ 1 ปี และ 5 ปีลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับตลาดมีการปรับมุมมองบางส่วนในการเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดด้วยเช่นกัน
• ในวันศุกร์ที่ 25 ต.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ต.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 21-25 ต.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,781 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 4,094 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 4,084 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 10 ล้านบาท)
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 ต.ค.-1 พ.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.50-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออก/รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนต.ค. มาตรวัดตลาดแรงงานจาก JOLTS ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนก.ย. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการเลือกตั้งทั่วไปญี่ปุ่น (27 ต.ค.) ผลการประชุม BOJ (30-31 ต.ค.) ดัชนี PMI เดือนต.ค. ของจีน รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• หุ้นไทยเผชิญแรงขายทำกำไร หลังปรับตัวขึ้นแรง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน
หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะปรับตัวลงในเวลาต่อมาตามแรงขายทำกำไร (หลังจากปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรงในช่วงก่อนหน้านี้) โดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศ นอกจากนี้การปรับตัวลงของหุ้นไทยในระหว่างสัปดาห์ยังสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางการปรับมุมมองของตลาดที่ประเมินว่าเฟดจะไม่เร่งลดดอกเบี้ย ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. 2567 นี้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่จากคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 เข้ามาหนุน ประเด็นดังกล่าวหนุนให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้น สวนทางกับภาพรวมที่ปรับตัวลงถ้วนหน้า อนึ่ง ปริมาณการซื้อขายในสัปดาห์นี้ค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน
• ในวันศุกร์ที่ 25 ต.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,463.42 จุด ลดลง 1.77% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 48,619.45 ล้านบาท ลดลง 27.16% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.95% มาปิดที่ระดับ 337.11 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (28 ต.ค.-1 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,450 และ 1,435 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,475 และ 1,490 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ของบจ.ไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนก.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน การประชุม BOJ ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ
ข่าวเด่น