การตลาด
Scoop : "Content Project Market" ตลาดซื้อขายคอนเทนต์ ผลักดันวงการหนังไทย ก้าวไกลระดับโลก


 

คอนเทนต์ (Content) จัดได้ว่าเป็นแก่นสำคัญของการสื่อสาร ที่ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ใดก็ตาม ทั้งเพื่อต้องการสร้างความบันเทิง การให้ความรู้ หรือเรื่องของการทำธุรกิจ ก็ล้วนต้องมีการสร้างคอนเทนต์เข้ามาเป็นหัวใจหลัก เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของการสื่อสารนั้น ๆ ตามที่ได้วางแผนไว้ ฉะนั้นคอนเทนต์จึงเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่มีปริมาณข้อมูลมหาศาลจากการสามารถติดต่อกันได้อย่างไร้พรมแดน ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการเลือกเสพสื่อ หรือเลือกดูคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้อย่างเสรี


ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงดังกล่าว ก็กลับเป็นเป็นการดึงดูดสายตาและความสนใจให้กับผู้ที่สามารถผลิตคอนเทนต์ได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยิ่งด้วยการเปิดเวทีให้พวกเขาได้โชว์ของ เช่น พื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงผู้ผลิตคอนเทนต์และนายทุนเอาไว้ด้วยกัน ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้คอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมา ถูกต่อยอดเป็นโปรเจคที่มีความเป็นรูปธรรม สามารถเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น และมีโอกาสสร้างผลลัพธ์ทางบวกอื่น ๆ ได้อีกมาก อย่างเช่น CEA หรือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้จัดตั้ง Content Project Market ตลาดซื้อ-ขายคอนเทนต์ของไทย เนื่องด้วยในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างนักสร้างสรรค์คอนเทนต์กับนักธุรกิจและนักลงทุนให้ได้มีโอกาสพบปะ และแลกเปลี่ยนการซื้อขายคอนเทนต์ระหว่างกัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.08 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้า (ปี 2564) ถึง 12% โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีมูลค่าสูงขึ้นอีก ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตคอนเทนต์ของไทย ก็อยู่ในช่วงเริ่มต้นเข้าสู่ยุคทอง จากที่หนังไทยเริ่มมีกระแสตอบรับในระดับนานาชาติ เช่น “หลานม่า“ หรือ “ธี่หยด” ส่วนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หนังไทยเรื่อง “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก” หรือ “แม่นางพระโขนง” ที่ทำรายได้มหาศาลและได้เข้าไปครองใจผู้คนมากมาย ก็ได้บ่งบอกถึงศักยภาพของคอนเทนต์ไทย ที่มีคุณภาพและโดดเด่นไม่แพ้ใคร

แต่ที่ผ่านมา ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ ต้องฝ่าด่านการ Pitch ไอเดีย ด้วยการเข้าหานายทุนด้วยตนเอง ซึ่งตรงนี้ยังเป็นข้อจำกัด ที่ทำให้คอนเทนต์ดี ๆ ของไทยหลากหลายไอเดียไม่ได้ถูกต่อยอดต่อออกมาให้โลกเห็น เนื่องด้วยในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยยังขาดบุคลากรที่เป็น Pitch Team อีกทั้งอาจมีความยากลำบากในการเข้าไปหานายทุน โดยเฉพาะนายทุนจากต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ฉะนั้นการที่ CEA ได้สร้างตลาดซื้อขาย Content Project Market ขึ้นมา จึงถือเป็นการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยนอกจากจะพัฒนาศักยภาพผู้สร้างคอนเทนต์แล้ว ยังเอื้ออำนวยให้ผลงานของพวกเขาได้ต่อยอดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ผ่านการเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ของไทยได้นำเสนอผลงาน ทั้งบทภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชั่น รวมไปถึงไอเดีย เนื้อหา เช่น งานเขียน หรือคอนเซ็ปต์ (Pitch Deck) ที่ยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาต่อนักธุรกิจ นักลงทุนในแวดวงอุตสาหกรรมคอนเทนต์ และสตรีมมิงแพลตฟอร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 64 บริษัท เช่น บริษัทเนรมิตรหนัง ฟิล์ม จำกัด, บริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด, บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด, Skyline Media Group จากประเทศเวียดนาม, Barunson E&A จากประเทศเกาหลีใต้, Mocha Chai Laboratories จากประเทศสิงคโปร์ ฯลฯ
 

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “การจัดงาน Content Project Market เปรียบได้กับตลาดซื้อขายและเวที Pitching คอนเทนต์ของไทย ที่เชื่อมโยงนักสร้างสรรค์กับนักลงทุนให้มาพบปะพูดคุยเพื่อเจรจาต่อ ยอดธุรกิจ โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชัน ในขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ สร้างเครือข่าย และพัฒนานักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ให้มีทักษะในการนำเสนอผลงานกับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะต่าง ๆ ภายใต้โครงการ Content Lab 2024 รวมถึงนักสร้างสรรค์คอนเทนต์มืออาชีพจากการเปิดรับสมัครจากภายนอก รวมทั้งหมด 59 โปรเจ็กต์ โดยแบ่งเป็นโปรเจ็กต์จากโครงการ Content Lab 2024 จำนวน 37 โปรเจ็กต์ ได้แก่ ภาพยนตร์และซีรีส์ จำนวน 10 โปรเจ็กต์ แอนิเมชัน จำนวน 7 โปรเจ็กต์ และบทภาพยนตร์และซีรีส์ จำนวน 20 โปรเจ็กต์ และจากการเปิดรับสมัคร (Open Call) จำนวน 22 โปรเจ็กต์

ทั้งนี้นักสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมงานได้นำโปรเจ็กต์ที่พัฒนาแล้วของตนเองมานำเสนอกับนักธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ นักลงทุนจากสตรีมมิงแพลตฟอร์มระดับสากล รวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านเวที Pitching และการเจรจาธุรกิจ Business Matching เพื่อต่อยอดผลงานสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมกันผลักดันและยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยให้เป็นที่รู้จักบนเวทีนานาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต”

การเปิดตลาดซื้อขายคอนเทนต์ของไทยดังกล่าว จึงถือได้ว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย พัฒนาได้ทัดเทียมเท่ากับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในระดับสากล ที่นอกจากจะทำให้ภาพยนตร์และซีรีส์ไทยสามารถเติบโตในตลาดโลกได้แล้ว การที่ไทยได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จะทำให้เกิดการดึงดูดทั้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การท่องเที่ยว หรือการก่อเกิดแฟนคลับศิลปินและนักแสดงได้เหมือนที่วงการซีรีส์วายไทยทำได้ ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยว เพิ่มการบริโภคภาคเอกชนในประเทศ ไปจนถึงการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่าง ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างอย่างยั่งยืนอีกด้วย

LastUpdate 27/10/2567 23:24:14 โดย : Admin
31-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 31, 2024, 2:28 am