เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : แรงเชียร์ "ทรัมป์" ชนะเลือกตั้ง ปรับดอลลาร์แข็งค่า ส่อแววกระทบตลาดทุนไทย


แม้ว่าศึกท้าชิงผู้นำสหรัฐอเมริกา ระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัวแทนพรรครีพับลิกัน กับ “กมลา แฮร์ริส” ตัวแทนพรรคเดโมแครต จะนับเป็นการแข่งขันที่มีความสูสีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ แต่ด้วยนโยบาย America First ที่เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจในลักษณะที่โฟกัสผลประโยชนที่สหรัฐฯ เป็นหลัก ก็ทำให้ทั่วโลกต่างคาดการณ์กันว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 5 พฤศจิกายน  2567 นี้ ทรัมป์ จะชนะหวนคืนสู่ตำแหน่งอีกครั้ง ซึ่งเขาจะมีแนวทางการดำเนินมาตรการที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และมีโอกาสก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ที่กระทบต่อการลดอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก และ Fund Flow ที่ไหลกลับเข้ามายังสหรัฐฯ อันทำให้ตลาดทุนใน Emerging Market รวมถึงไทยกลับเข้าสู่ช่วงอ่อนไหวอีกครั้ง

จากผลโพลล์ระยะหลัง ๆ มานี้ คะแนนฝั่งของโดนัลด์  ทรัมป์ นำโด่งในฝั่งกมลาค่อนข้างมาก ทำให้สถานการณ์ของตลาดทุนและค่าสกุลเงินเริ่มมีความผันผวนนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นมา โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีทิศทางแข็งค่าขึ้น สวนทางกับค่าเงินบาทไทยที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องมาจากนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทรัมป์ เป็นแบบ “Neo-isolationism” มุ่งเน้นประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยไม่สนใจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศอื่นจากนโยบายตัวเอง โดยตั้งใจเร่งให้มีเงินทุนไหลเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด ทั้งการส่งเสริมให้ธุรกิจภายในประเทศเติบโต ด้วยการลดภาษี CIT และ PIT ด้วยความเชื่อว่าเมื่อธุรกิจในประเทศดีจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพใหญ่ สอดคล้องกับแนวทางมาตรการต่อมา ที่จะสานต่อ Trade War เก็บภาษีนำเข้าที่สูงลิ่ว โดยเฉพาะจากจีน 30% และเตรียมตั้งกำแพงภาษีรถยนต์และรถกระบะจำนวน 200% เพื่อปกป้องผู้ผลิตรถยนต์อเมริกัน พร้อมทั้งดักทางสินค้าที่มีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในเม็กซิโก แต่มีจีนเป็นเจ้าของอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีทั้งการส่งผู้อพยพชาวลาตินและมุสลิมกลับประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับมาพุ่งขึ้นสูงอีกครั้ง

เนื่องด้วยนโยบายที่ถูกใจฝั่งอนุรักษ์นิยมและชาวอเมริกันอย่างมาก ทั้งนี้ล่าสุด ทรัมป์ได้ลงพื้นที่หาเสียงนอกเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน และได้พบกับอิหม่าม (ผู้นำศาสนาอิสลาม) หลายคนในพื้นที่ ด้วยคำมั่นว่าเขาจะยุติความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งดูเหมือนว่าทรัมป์จะได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวมุสลิมอเมริกันมากขึ้น เพราะพวกเขาไม่พอใจกับทางฝั่งเดโมแครตที่สนับสนุนอิสราเอล ถึงแม้ว่าทรัมป์จะมีนโยบายที่เข้มงวดกับผู้อพยพชาวมุสลิมก็ตาม

การเข้าใกล้สู่ความจริงที่มีความเป็นไปได้สูงว่า ทรัมป์จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ทำให้ตลาดทุนเริ่มเกิดความกังวลมากขึ้น เนื่องด้วยการพยายามของทรัมป์ผ่านนโยบายที่เน้นดึงดูดเงินลงทุนกลับเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อที่กลับมาสูงขึ้น ขัดต่อการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ได้เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้แล้ว

ซึ่งจะทำให้เกิดการหยุดชะงักการลดอัตราดอกเบี้ย เป็นผลกระทบที่ลุกลามไปยังธนาคารกลางทั่วโลก ที่กำลังทยอยปรับลดดอกเบี้ยตาม Fed ก่อเกิดช่องว่างของผลตอบแทน โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market หรือ EM) รวมถึงประเทศไทย ที่ Fun Flow เงินทุนจะเกิดการไหลออก สะท้อนออกมายังค่าเงินบาทปรับตัวในทิศทางอ่อนค่า อีกทั้งการหยุดลดดอกเบี้ย ยังส่งผลเสียงต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงของไทย ณ ขณะนี้ ทำให้สภาพคล่องในประเทศมีทิศทางฝืดเคือง เป็นปัจจัยกดดันต่อการบริโภคภาคเอกชน และการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนอีกทอดหนึ่ง

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ผ่านแนว 33.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยัง 33.84 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 สอดคล้องกับการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวนและสกุลอื่น ๆ ในเอเชีย ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ แต่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน จากการคาดการณ์ว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลให้ Fed ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทย SET Index มีการปรับตัวลดลงรับความกังวลดังกล่าว โดยล่าสุดอยู่ที่ 1,463.42 จุด โดยอยู่ในกรอบแนวรับที่ 1,455 จุด แนวต้าน 1,475-1,480 จุด ซึ่งก็คงต้องติดตามผลการเลือกตั้งที่แน่ชัดต่อไปในวันที่ 5 พ.ย. ที่จะถึงนี้ หากทรัมป์ได้รับชัยชนะ ก็คงต้องมารอลุ้นการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 6-7 พ.ย. ต่อไปว่าจะมีทิศทางกับการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างไร

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ต.ค. 2567 เวลา : 19:54:30
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 1:38 pm