ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ไปไหวไหม” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัจจัยที่จะส่งผลให้รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ไปต่อไม่ได้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามความเชื่อของประชาชนต่อการอยู่รอดของรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.68 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้จนครบเทอมในปี 2570 รองลงมา ร้อยละ 19.08 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 2 ปี (2569) ร้อยละ 16.87 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 1 ปี (2568) ร้อยละ 11.99 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้จนเกือบ ๆ ครบเทอมในปี 2570 ร้อยละ 9.77 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้ไม่เกินสิ้นปี 2567 และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงปัจจัยที่จะส่งผลให้รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ไปต่อไม่ได้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.43 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่สัญญาและคาดหวัง รองลงมา ร้อยละ 32.52 ระบุว่า กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังคุณทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 29.47 ระบุว่า การบริหารที่ผิดพลาด ของนายกฯ แพทองธาร จนนำไปสู่สถานการณ์วิกฤต ร้อยละ 28.85 ระบุว่า กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังนายกฯ แพทองธาร และพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 19.77 ระบุว่า การบริหารงานที่ไม่ระมัดระวังจนอาจเกิดการทุจริต คอร์รัปชัน ร้อยละ 17.25 ระบุว่า ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยละ 16.64 ระบุว่า ไม่มีปัจจัยใด ๆ ที่จะทำให้รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ไปต่อไม่ได้ ร้อยละ 10.92 ระบุว่า การชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ร้อยละ 9.62 ระบุว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็นจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 9.08 ระบุว่า การทำงานของพรรคฝ่ายค้านที่จะนำไปสู่การล้มลงของรัฐบาล ร้อยละ 8.24 ระบุว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ที่มีประเด็นอ่อนไหว ร้อยละ 8.09 ระบุว่า ประเด็นคดีตากใบ และร้อยละ 6.95 ระบุว่า การก่อรัฐประหารล้มรัฐบาล
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.86 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.37 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.94 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.24 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.81 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.34 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.20 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.46 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 35.19 สถานภาพโสด ร้อยละ 62.60 สมรส และร้อยละ 2.21 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 0.31 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 21.06 จบการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 34.81 จบการศึกษามัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.32 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 29.77 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.73 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 9.92 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.10 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.91 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.99 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.80 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 18.32 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 4.96 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 19.62 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 3.59 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 15.81 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 31.37 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.38 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.57 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 2.14 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001-50,000 บาท ร้อยละ 2.06 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 50,001-60,000 บาท ร้อยละ 0.38 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 60,001-70,000 บาท ร้อยละ 0.15 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 70,001-80,000 บาท ร้อยละ 0.61 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 80,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.32 ไม่ระบุรายได้
ข่าวเด่น