แบงก์-นอนแบงก์
finbiz by ttb ส่องเศรษฐกิจโลก 2025 : ความท้าทายที่ SME ไทยต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจ


ปี 2025 การค้าโลกและเศรษฐกิจไทยมีทั้งความท้าทายและโอกาส finbiz by ttb จึงขอฉายภาพเศรษฐกิจภาพใหญ่ และเจาะความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลต่อการค้าโลกและการค้าของไทย มาอัปเดตให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในภาคนำเข้า-ส่งออก จับตามองและเตรียมพร้อมรับมือ 

3 ภาพใหญ่เศรษฐกิจโลกปี 2025
 
1.Steady but Slow เศรษฐกิจในประเทศพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น มีแนวโน้มเติบโตช้าลง ในขณะที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียนยังเห็นศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่

2.New Easing Cycle เงินเฟ้อทั่วโลกทยอยปรับตัวลง กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลก เริ่มเข้าสู่วัฏจักรการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ไปเมื่อเดือนกันยายน ส่งสัญญาณการปรับลดต้นทุนทางการเงิน และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะยังมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2025

3. Geopolitical Risks นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศที่ต่างกันระหว่างผู้สมัครเลือกตั้งสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกที่ต่างกันไป รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังจะยืดเยื้อต่อไป

โอกาสและความท้าทายของประเทศไทย
 
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2025 คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตต่าง ๆ ไปแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยวิเคราะห์ในแต่ละภาคส่วน ดังนี้
 
ภาคการบริโภคในประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% ของจีดีพี ยังเห็นโมเมนตัมการเติบโต อย่างไรก็ตามสิ่งที่อาจต้องพิจารณาเพิ่มคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง อาจลดทอนการบริโภคกลุ่มสินค้าคงทน 
 
ภาคการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนถึง 12% ของจีดีพี ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะถึง 35 ล้านคนในปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะเป็น 38 ล้านคนได้ในปี 2025 แต่ประเด็นที่น่าติดตามคือ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาเที่ยวไทยมีเพียง 60% เมื่อเทียบกับก่อนช่วงโควิด ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่นับชาวจีนมีจำนวนใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด 
 
ภาคการส่งออก ฟื้นตัวค่อนข้างดี ภาคการส่งออกยังเป็นตัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปีนี้คาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 2-3% 
 
ภาคการผลิต ยังเห็นการเติบโตในกลุ่มสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ในขณะที่กลุ่มสินค้าคงทน เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เริ่มเห็นสัญญาณการหดตัว
ภาคการลงทุน แม้ทุกวันนี้ต่างชาติจะหันไปลงทุนที่เวียดนามกันค่อนข้างมาก แต่การลงทุนในประเทศไทยก็ยังคงอยู่ในทิศทางที่ดี โดยเติบโตประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปี 2023 โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิต Data Center และ PCBs 

เตรียมพร้อมรับสถานการณ์การค้าแบบ Dual Globalization
 
สภาพแวดล้อมทางการค้าระหว่างประเทศในปี 2025 อาจถูกแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจนมากขึ้น จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เหมือนจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้สมัครจากรีพับลิกันเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง กําแพงภาษีสินค้าจากจีนอาจถูกขยับเป็น 60% หรือ 4 เท่าจากของเดิม  
Dual Globalization หรือโลกที่แบ่งเป็นสองขั้วจากภูมิศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ การขยายตลาดและการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในตลาดใหม่ ๆ โดยฝั่งยุทธศาสตร์สหรัฐฯ อาจมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เข้ามาในห่วงโซ่สหรัฐฯ ส่วนยุทธศาสตร์จีน มุ่งเน้นขยับขยายพื้นที่ไปยังประเทศกําลังพัฒนาอย่างแอฟริกา ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันได้ขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนแทนสหรัฐอเมริกาแล้ว ส่งผลให้บทบาทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความสำคัญและน่าสนใจมากขึ้น จากการเป็นพื้นที่ในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกในยุคถัดไป

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
 
ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนได้รับแรงกดดันโดยเฉพาะจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้การจับจ่ายในจีนชะลอตัว ผู้คนเริ่มมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจลดลง รัฐบาลจีนจึงออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ด้วย 3 มาตรการคือ เพิ่มสภาพคล่องในระบบและปล่อยสินเชื่อกระตุ้นการลงทุน ผ่อนคลายเพื่อเพิ่มกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ปัจจุบันแรงซื้อมีการชะลอตัวลงอย่างมาก และส่งสัญญาณฟื้นตลาดหุ้นจีนที่อยู่ในจุดตกต่ำที่สุดให้ทะยานขึ้นมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และพยายามมุ่งเน้นใน อุตสาหกรรมใหม่สามประการ (เทคโนโลยี-พลังงาน-โมเดล) คือ พลังงานสะอาดโดยเฉพาะกลุ่มลิเธียม-ไอออนแบตเตอรี่ โซลาร์เซลล์ เทคโนโลยีขั้นสูง AI นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และ โมเดลธุรกิจแบบยั่งยืน มาเป็นเครื่องมือใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่แม้ในปัจจุบันยังคงมีสัดส่วนราว 8% ของจีดีพีจีน แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จากการที่จีนมีแนวโน้มลดการอัดฉีดฝั่งอุปทานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัดส่วนใหญ่ถึง 30% ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนในระยะถัดไปอาจขยายตัวได้ราว 3-5% และไม่ได้เติบโตสูงอย่างที่เป็นมาในทศวรรษก่อน 

เทรนด์ธุรกิจ 2025 สิ่งต้องรู้สำหรับธุรกิจ SME
 
ปี 2025 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ธุรกิจไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสใหม่ ๆ ที่รอให้เข้าไปคว้า ไม่ว่าจะเป็นการขยายตลาด หรือการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก สำหรับ SME ต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมการค้าโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจากแนวโน้มที่สำคัญ ดังนี้
 
1. การค้าโลกมุ่งหน้าสู่เอเชีย การค้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปยังตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งมีโอกาสในการเติบโตมากขึ้น SME ควรหันมามองหาการค้ากับประเทศในเอเชียเพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสใหม่ ๆ
 
2. ปรับตัวให้ทันต่อการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน การเกิดสงครามการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้ผู้ประกอบการ SME จำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีมาตรฐานที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เช่น การใช้แนวคิด Go Green & ESG ในการผลิตและการตลาด
 
3. มาตรฐาน ESG ที่เพิ่มขึ้น การใช้มาตรฐาน ESG จะกลายเป็นเรื่องสำคัญในธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้มาตรการทางการค้าจากประเทศตะวันตก SME ต้องเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการเข้าถึงตลาดโลก
 
4. กลยุทธ์การบุกตลาด
 
• ตลาดสหรัฐฯ และยุโรป หาช่องทางใหม่ในการส่งออก โดยเฉพาะจากสินค้าที่มีคุณภาพและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาด
• ตลาดจีน ใช้โอกาสจากช่องทางแพลตฟอร์มจีนที่ธุรกิจไทยเข้าถึงได้ในการรุกตลาดจีนที่มีประชากรจำนวนมาก พัฒนาสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน 
• ตลาดอาเซียน ใช้ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
• ตลาดใหม่ในเอเชียและอื่น ๆ ค้นหาโอกาสในตลาดที่กำลังเติบโต เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
 
5. การสร้างความยืดหยุ่น เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า

ดังนั้นการปรับตัวและมีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจจะเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจปี 2025 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ รออยู่ SME ไทยต้องไม่หยุดนิ่ง เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่มา :  ข้อมูลจากงาน ttb Global Trade & FX Forum : The Future of Asia Economic Trends and Trade Challenges for Thailand 2025

#finbizbyttb #โครงการเสริมความรู้SME
#เอสเอ็มอียุคดิจิทัล #ตัวช่วยเอสเอ็มอี
#SMEเติบโตอย่างยั่งยืน
#ให้ชีวิตการเงินดีทั้งวันนี้และอนาคต
#เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น
#ttb #MakeREALChange
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ต.ค. 2567 เวลา : 14:18:50
11-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 11, 2025, 7:39 pm