ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2568 โต 3% จาก 4 แรงขับเคลื่อน ได้แก่ การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ทั้งนี้มีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป ความเปราะบางของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงด้านการเกิดสงครามในปีหน้า ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยในด้านปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ ส่วนด้านการเติบโตของธนาคารกรุงเทพ ชี้พอร์ตสินเชื่อโตมากถึง 4% ในปี 2568 และธนาคารมีการเติบโตได้ดีในต่างประเทศ พร้อมมั่นใจว่าธนาคารกรุงเทพ จะกลายเป็นผู้นำด้าน Virtual Bank ที่มีศักยภาพมากที่สุดในประเทศไทย
ช่วงเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2567 คาดการณ์ว่า ธุรกิจภาคการส่งออกของไทยจะดีขึ้นตามลำดับ และในธุรกิจภาคบริการจะได้รับอานิสงส์จากการที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยสิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 36 ล้านคน และจะดีขึ้นเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในปีหน้า ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่จะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และการลงทุนภาคเอกชนที่กลับเข้ามา ทั้ง 4 เครื่องยนต์หลักดังกล่าว จะขับเคลื่อนให้ GDP ในปี 2568 ของไทยสามารถโตได้ถึง 3%
แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบกับเศรษฐกิจไทยที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ นโยบายของผู้นำสหรัฐคนต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เช่น การทำ Trade War หรือการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าที่สูงลิ่ว โดยเฉพาะกับทางจีน อันทำให้เศรษฐกิจจีนมีความท้าทายมากขึ้น จากที่ตอนนี้เศรษฐกิจจีนก็ยังไม่พ้นดงหนามจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และกำลังซื้อในประเทศที่ต่ำ อีกทั้งประเด็นความขัดแย้งทางด้านภูมิศาสตร์ เช่น ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจที่มีความยึดโยงกันทั่วโลก
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทย ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังภายในประเทศ อย่างปัญหาของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้กลุ่มที่มีการค้างชำระเกิน 30 วัน (แต่ยังไม่เกิน 90 วัน) หรือที่เรียกว่า Special Mention (SM) เช่น สินเชื่อรถยนต์ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 16% ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายปี สะท้อนถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รุนแรงมากขึ้น โดยสังเกตได้จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ใกล้ระดับ 90% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เกือบสองเท่า และสูงกว่าจุดปลอดภัยที่ 80%)
“การเกิดหนี้ จริง ๆ สามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้ หากเป็นการกู้มาใช้จ่ายเพื่อเป็นการเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้ประเทศไทย ไม่สามารถพึ่งพิงการเจริญเติบโตโดยอาศัยการสร้างหนี้ หรือ Debt Finance Growth ได้อีกแล้ว อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยกำลังกลายเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว” นายกอบศักดิ์ กล่าว
แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ มีการปรับลดดอกเบี้ยลงตามไปด้วย ทำให้เศรษฐกิจในภาพใหญ่ดีขึ้น (แต่ทั้งนี้ ผลของการลดดอกเบี้ยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน - 1 ปี กว่าธุรกิจในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงปัญหาหนี้ในไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น) สอดคล้องกับการขยายตัวของการดำเนินธุรกิจของธนาคารกรุงเทพ ที่นายกอบศักดิ์คาดการณ์ว่า พอร์ตสินเชื่อของทั้งปี 2568 มีโอกาสเติบโต 3-4% ซึ่งโตสัมพันธ์กับการเติบโตของ GDP เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะโต 3% ในปีเดียวกัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ กำลังก้าวเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังเปิดมุมมองโอกาสของประเทศไทย หากได้เข้าร่วมกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ว่า “ในอนาคต BRICS จะกลายเป็นกลุ่มประเทศที่ยึดครองพื้นที่เศรษฐกิจโลก นำโดยประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างระเบียบโลกใหม่ อย่าง จีนเป็นเบอร์ 1 อินเดีย เป็นเบอร์ 3 และ ประเทศกลุ่มอาเซียน เป็นเบอร์ 4 ซึ่งคาดว่าหลังจากที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ตั้งแต่เนิ่น ๆ เราจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทมากที่สุดในโลก ส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย”
ทิศทางการทำธุรกิจธนาคาร ของธนาคารกรุงเทพในระยะต่อไป
จากการคาดการณ์ที่พอร์ตสินเชื่อของธนาคารจะมีโอกาสโต 3-4% ในปี 2568 เป็นการเติบโตตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่มีที่มาจากการลงทุนภาคเอกชนที่มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยี ธุรกิจสีเขียว และการขยายธุรกิจจากไทยไปยังต่างประเทศ
ส่วนด้านการเติบโตของธนาคารกรุงเทพในต่างประเทศ ยังคงมีพื้นที่เติบโตอีกมาก โดยธนาคารมีลูกค้ารายใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ที่มีอัตราการเติบโตของสินเชื่ออย่างน่าสนใจ โดยในอินโดนีเซียมีการขอสินเชื่อเพื่อไปขยายโรงงาน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และโครงการอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นโอกาสที่จะเห็นการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต
นอกจากนี้ การทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่ธนาคารได้เป็น 1 ในผู้เล่นรายใหญ่ที่เข้าร่วมศึกชิงใบอนุญาตจัดตั้งนั้น นายกอบศักดิ์ เปิดเผยว่า ธนาคารมั่นใจอย่างยิ่งว่าจะกลายเป็นผู้นำ Virtual Bank ของประเทศไทยในอนาคต เพราะการประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและสามารถสร้างผลกำไรได้นั้น ต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่
1. ต้องมีเทคโนโลยีของตัวเอง โดยจำเป็นต้องลงทุนเพื่อสร้างระบบ Core Banking ขึ้นมา ในมูลค่าหลายพันล้านบาท
2.ต้องมีฐานลูกค้าจำนวนมากอยู่ในมือ และต้องเป็นกลุ่มลูกค้าที่มี Data เพียงพอในการประกอบการตัดสินใจเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเรื่องของการอนุมัติสินเชื่อ อันสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ธนาคารต้องมี Partner ที่แข็งแกร่ง
โดยธนาคารกรุงเทพ มี Partner ที่สำคัญอย่าง ซี กรุ๊ป (Sea Group) ภายใต้ Shopee ที่เคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจธนาคาร Virtual Bank ทำมาแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทมีเทคโนโลยี Core Banking อยู่ในมืออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ จึงสามารถประหยัดต้นทุนไปได้เยอะ อีกทั้งธนาคารก็มี Data จากฐานลูกค้าในมือ ทั้งข้อมูลการใช้จ่าย พฤติกรรมทางการเงินต่าง ๆ ทำให้ธนาคารกรุงเทพมีความสามารถในการจัดการกับสินเชื่อ ควบคุมคุณภาพหนี้เสีย และออก Solution ที่ตอบโจทย์ลูกค้าและเป็นผลดีต่อการเติบโตของ Virtual Bank ที่สานต่อธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น