บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จัดโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 45 นำคณะครูอาจารย์และผู้สนใจเยี่ยมชม "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เคยรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าสำคัญมาตั้งแต่อดีต
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ นครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในหัวเมืองใหญ่ และมีความสำคัญต่อความมั่นคงในการบริหารราชการแผ่นดิน ในอดีตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยเสด็จมาประทับที่เมืองนครศรี ธรรมราชเป็นระยะเวลานาน เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทำนุบำรุงเมือง และพระพุทธศาสนา ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปูชนียสถานสำคัญของภาคใต้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความสำคัญตั้งแต่โบราณ เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และได้รับการขนานนามว่าเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" ของภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองนครศรีธรรมราช จำนวน 4 ครั้ง ได้ทรงเปิดโรงสีไฟแห่งแรกในปี พ.ศ. 2448 และทรงมีพระราชหัตถเลขาบันทึกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้ว่า "ไม่มีที่ไหนสู้" ในบรรดาเมืองท่าแหลมมลายูฝั่งตะวันออกทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรื่องของลุ่มน้ำปากพนัง


อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี พ.ศ. 2535 พื้นที่แห่งนี้ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการจัดการน้ำที่ซับซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำการเกษตร และคุณภาพชีวิตของราษฎร จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นที่มาของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทุกมิติ เริ่มจากการสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของน้ำเค็ม แก้ไขปัญหา 4 น้ำ 3 รส ประกอบด้วย น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม และน้ำเปรี้ยว 3 รส ได้แก่ รสจืด รสเค็ม และรสเปรี้ยว พัฒนาระบบชลประทาน การจัดการที่ดินการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ไปจนถึงการพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎร


ปัจจุบัน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งระบบแห่งแรกของประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการทรงวิเคราะห์ปัญหาแบบองค์รวม ทรงเข้าพระทัยถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ การใช้ที่ดิน และวิถีชีวิตของราษฎร จึงพระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทุกมิติ
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการบูรณาการศาสตร์พระราชาในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน การได้มาเรียนรู้จากโครงการแห่งนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาที่คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศและการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน"
ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เริ่มจากการเยี่ยมชมอาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการและภาพยนตร์ที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของโครงการ จากนั้นได้สัมผัส "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ผ่านการเยี่ยมชมแปลงทดสอบสาธิตด้านวิชาการ ที่จัดแสดงการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจท้องถิ่น อาทิ ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ฝรั่ง กล้วย และมะพร้าว
ผู้เข้าร่วมยังได้ชมแปลงทดสอบสาธิตด้านขยายผล ที่แสดงให้เห็นความสำเร็จในการเลี้ยงสัตว์พื้นถิ่นที่มีชื่อเสียง เช่น ไก่พันธุ์ศรีวิชัย (ไก่คอล่อน) และเป็ดเทศพันธุ์ร่อนพิบูลย์ พร้อมทั้งได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านกิจกรรมการแปรรูปและทำขนมพื้นบ้าน โดยเฉพาะการทำ "ขนมลา" ขนมหวานที่มีความสำคัญในประเพณีบุญสารทเดือนสิบของชาวนครศรีธรรมราช และการทำน้ำตาลจากต้นจาก พืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีประโยชน์หลากหลาย ตั้งแต่การใช้ใบมุงหลังคา ทำยอดมวนยาสูบ ทำขนมหวานจากลูกจาก และผลิตน้ำตาลจากงวงจาก
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมจิตอาสา และการกุศล ได้แก่ การปล่อยปลาเบญจพรรณ 4,999 ตัว เพื่อเป็นการไถ่ชีวิตสัตว์เป็นมหาทานถวายเป็นพระราชกุศล และการมอบหนังสือในโครงการ "อมรินทร์อ่านพลิกชีวิต" พร้อมด้วยกิจกรรมมอบทุน และอุปกรณ์ทางการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้แก่โรงเรียนโรงเรียนปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วย
ข่าวเด่น