การค้า-อุตสาหกรรม
'วิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านท้องคลอง' จ.นครสวรรค์ ผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์ ขับเคลื่อนตาม BCG Model สร้างกำไรปีละ 660,000 บาท


นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาคเกษตรไทยในปัจจุบันกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่การสร้างมูลค่าและความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ไม่เพียงช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ แต่ยังสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค การปรับเปลี่ยนนี้จะทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน สร้างโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้เรียนรู้ร่วมกันในเรื่องเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการพัฒนาการผลิตให้เข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น 

 
 
สศท.12 ได้ดำเนินการติดตามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านท้องคลอง ตำบลหัวดง อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์ ได้รับรางวัลวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัด ในปี 2566 โดยกลุ่มเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความต้องการแก้ไขปัญหาภายในชุมชน ทั้งปัญหาด้านการเกษตร การว่างงาน หนี้สิน และความเหลื่อมล้ำ จึงนำแนวคิดอาหารปลอดภัยตามกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบัน ประกอบกับนวัตกรรมด้านการเกษตรมาใช้เป็นแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าว ซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญของชุมชน คู่ขนานไปกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแม่แบบในการพัฒนากลุ่มเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก 12 ราย มีนายสนุ่น สมีเพ็ชร เป็นประธานกลุ่ม พื้นที่เพาะปลูกรวม 703 ไร่ โดยแบ่งเป็นเนื้อที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 300 ไร่ และเนื้อที่ปลูกอีก 403 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าร่วมระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS) ซึ่งเป็นกระบวนการรับรองเกษตรอินทรีย์

 
ด้านสถานการณ์การผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านท้องคลอง เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมะลิดำ ข้าวมะลิแดง และข้าว กข.43 เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ ปีละ 2 รอบการผลิต โดยในปีเพาะปลูก 2566/67 รอบแรก เกษตรกรเริ่มปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ร้อยละ 80 ให้ผลผลิตประมาณ 120 ตัน/ปี รองลงมาข้าวมะลิดำ ร้อยละ 10 ให้ผลผลิตประมาณ 15 ตัน/ปี และข้าวมะลิแดง ร้อยละ 10 ให้ผลผลิตประมาณ 15 ตัน/ปี ราคาข้าวทั้ง 3 สายพันธุ์ที่เกษตรกรขายได้ ณ ความชื้นไม่เกิน 15% เฉลี่ยอยู่ที่ 17,000 บาท/ตัน และรอบที่ 2 เริ่มปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนสิงหาคม 2567 เกษตรกรปลูกข้าว กข.43 ทั้งหมดของพื้นที่ ให้ผลผลิตประมาณ 180 ตัน/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ความชื้นไม่เกิน 15% เฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 บาท/ตัน

 
 
 
ภาพรวมสถานการณ์ตลาด พบว่า ผลผลิตข้าวอินทรีย์ ร้อยละ 70 กลุ่มนำไปสีแปรรูปเป็นข้าวสารอินทรีย์และร้อยละ 30 กลุ่มจำหน่ายข้าวเปลือกให้กับเครือข่ายข้าวอินทรีย์ สำหรับการแปรรูปเป็นข้าวสารอินทรีย์นั้น กลุ่มมีโรงสีขนาดเล็กที่ใช้สีข้าวอินทรีย์ภายในกลุ่ม และถ้าช่วงใดมีคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมากจะใช้บริการโรงสีในเครือข่ายผู้ผลิตข้าวอินทรีย์มาช่วยในการสีข้าว โดยผลิตภัณฑ์ข้าวสารอินทรีย์ของกลุ่มมีการจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ข้าวเพชรสมบูรณ์”ซึ่งบรรจุใส่ถุงสุญญากาศ จำนวน 3 ขนาด ได้แก่ 0.5 กิโลกรัม , 1 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 70 บาท โดยผลผลิตข้าวสารอินทรีย์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 กลุ่มจำหน่ายให้กับ “จริงใจ FARMERS' MARKET” ณ ห้างเซ็นทรัลบางนา รองลงมาร้อยละ 20 จำหน่ายส่งให้กับบริษัท เกษตรอินโน จำกัด (บริษัทในเครือกลุ่ม Kubota) และผลผลิตอีกร้อยละ 10 จำหน่ายปลีกผ่านร้านค้าโครงการพื้นที่ปันสุข ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station รวมถึงการออกบูทร่วมกับหน่วยงานราชการ และจำหน่ายผ่าน Facebook : ข้าวเกษตรอินทรีย์ เพชรสมบูรณ์ ทั้งนี้ จากกระบวนการผลิตและการแปรรูปข้าวอินทรีย์ของกลุ่ม สามารถสร้างกำไร 660,000 บาท/ปี วิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านท้องคลอง ยังได้ดำเนินกิจกรรมของกลุ่มตามแนวทางการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio - Circular - Green Economy) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิตและการลดของเสียทางการเกษตร ด้วยวิธีการดำนาเพื่อลดต้นทุนพันธุ์ข้าว ประกอบกับมุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักการ Zero Waste เพื่อลดมลพิษจากการทำการเกษตร เช่น การไถกลบตอซังเพื่อเพิ่มแร่ธาตุในดินแทนการเผาฟางข้าว สำหรับแกลบ รำ และปลายข้าว ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากกระบวนการสีข้าว กลุ่มยังนำมาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมอีกด้วย ในส่วนของการผลิตข้าวอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงมีการเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ กลุ่มยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การแปรรูปข้าวสาร การผลิตข้าวอินทรีย์ รวมถึงแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรที่สนใจ
 

 
 
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการผลิตข้าวอินทรีย์แล้ว ทางกลุ่มยังได้ขยายตลาดและเปิดรับสมาชิกในการผลิตข้าวอาหารสัตว์ (พันธุ์ กข.81) เพิ่มเติม เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในสภาวะที่ราคาข้าวตกต่ำ โดยปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม กลุ่มยังสามารถรับสมาชิกเพิ่มได้อีก เนื่องจากมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง หากเกษตรกรท่านใดสนใจเข้าร่วมผลิตข้าวอาหารสัตว์ หรือสนใจศึกษาดูงานการผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านท้องคลอง สามารถติดต่อได้ที่ คุณสนุ่น สมีเพ็ชร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจ โทร 0 96894 6195 และ คุณณัฐชนน สมีเพ็ชร์ เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจ โทร 0 96453 6649

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ต.ค. 2567 เวลา : 16:48:50
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 8:54 am