การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สทนช. จับมือ FAO ลงนามเริ่มโครงการ ScaleWat ประเมินการถือครองทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ สู่การจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน


 
 
สทนช. ร่วมกับ FAO ลงนามเอกสารเริ่มโครงการ ScaleWat ด้วยการสนับสนุนจากประเทศเยอรมนี เตรียมประเมินการถือครองทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบในพื้นที่นำร่อง และมุ่งขยายผลในทุกลุ่มน้ำทั่วประเทศ เพื่อจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน
 
 
 
วันนี้ (29 ต.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมพิธีลงนามเอกสารเริ่มโครงการ “ยกระดับขีดความสามารถในการกำกับดูแลการถือครองทรัพยากรน้ำตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร ความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการมีส่วนร่วมทางสังคม” (Scaling up capacities for responsible governance of water tenure in support of food security, climate resilience, and social inclusion: ScaleWat) ร่วมกับ คุณ จง จิน คิม ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของประเทศเยอรมนี โดยมีคุณ ฮานส์ อูลริช ซูดเบค อัครราชทูตและรองหัวหน้าสำนักงาน สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
 
 
 
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีหลายพื้นที่ทั่วโลกที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ภายในปี 2593 ประกอบกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับเป็นบริบทที่ท้าทายสำหรับทุกประเทศในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมีประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งคือเรื่องการจัดการการถือครองทรัพยากรน้ำที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ เพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาดังกล่าว สทนช. และ FAO จึงได้ลงนามข้อตกลงโครงการ ScaleWat ร่วมกันอย่างเป็นทางการ เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการจัดการน้ำของประเทศไทย โดยคำนึงถึงการจัดสรรน้ำอย่างเท่าเทียมและปรับปรุงการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ ส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำและอาหาร รวมทั้งความครอบคลุมมิติทางสังคม ด้วยการประเมินการถือครองทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ทำให้การจัดสรรและการใช้ทรัพยากรน้ำสอดคล้องกับความต้องการอย่างยั่งยืน สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศนำร่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2567 – 2569 ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้จะช่วยพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
 
 
“โครงการ ScaleWat ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 2 ภูมิภาค ได้แก่ ประเทศโคลัมเบีย ภูมิภาคลาตินอเมริกา และประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการลงนามในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามร่วมกันระหว่าง สทนช. และ FAO ด้วยการสนับสนุนของประเทศเยอรมนี ต่อการรับมือกับสถานการณ์และความท้าทายเร่งด่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำซึ่งมีความสำคัญต่ออนาคตของสังคมและสิ่งแวดล้อมของเรา อีกทั้งโครงการนี้ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้กรอบการบริหารจัดการที่ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของแต่ละภูมิภาคได้ พร้อมกันนี้ ในการขับเคลื่อนโครงการได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับประเทศ ซึ่งประกอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ อาทิ สทนช. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และคณะกรรมการลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งจะมีการขยายผลที่ได้รับจากการดำเนินการในพื้นที่นำร่องไปสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดย สทนช. มั่นใจว่าโครงการ ScaleWat จะเป็นการวางรากฐานสำหรับแนวทางแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำและการจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีความหมายและยั่งยืน อันจะส่งผลดีต่อชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลกต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ต.ค. 2567 เวลา : 17:23:22
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:17 am