มูลค่าส่งออกเดือน ก.ย. เติบโต 1.1%YoY ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการนำเข้าขยายตัวที่ 9.9%YoY ส่วนดุลการค้าเกินดุล 394.2 ล้านดอลลาร์ฯ
แม้การส่งออกยังสามารถขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แต่โมเมนตัมการฟื้นตัวแผ่วลง โดยมูลค่าการส่งออกเทียบรายเดือนกลับมาหดตัวที่ -0.8%MoM ขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการยังติดลบ เช่น รถยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และอัญมณี การส่งออกระยะข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ตลอดจนการยกระดับของปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งภาวะสงคราม และกระแสแยกขั้วที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
มูลค่าส่งออกเดือนกันนายน 2567 ขยายตัว 1.1%YoY
มูลค่าส่งออกเดือน ก.ย. อยู่ที่ 25,983.2 ล้านดอลลาร์ฯ เติบโตได้ 1.1%YoY ชะลอลงจาก 7.0%YoY ในเดือนก่อน ทั้งนี้การส่งออกสินค้าทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกทองคำหดตัวลง 15.0%YoY ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้จะอยู่ที่ 1.7% YoY สำหรับการส่งออก 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 3.9%YoY
ด้านการส่งออกรายสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว
• การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 2.0%YoY ชะลอลงเมื่อเทียบจากเดือนก่อนที่เติบโตได้ 5.2%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+25.5%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+22.5%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+15.7%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+8.7%) และ เคมีภัณฑ์ (+4.4%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และส่วนประกอบ (-20.6%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-9.9%) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ (-7.6%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-6.5%) และ เม็ดพลาสติก (-5.2%) เป็นต้น
• การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้ 3.5%YoY ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เติบโตถึง 17.4%YoY ปัจจัยหลักจากสินค้าเกษตรที่ทรงตัวโดยเติบโตเพียง 0.2%YoY หลังจากที่เร่งตัวไปในเดือนก่อน ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้ 7.8%YoY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา (+47.4%) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+27.4%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+21.5%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+15.6%) และข้าว (+15.2%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-29.2%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-20.9%) น้ำตาลทราย (-10.4%) ผักกระป๋อง และผักแปรรูป (-6.4%) รวมถึง ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง (-3.0%) เป็นต้น
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว
• สหรัฐฯ : ขยายตัว 18.1%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น (ส่งออก 9 เดือนแรกขยายตัว 12.5%)
• จีน : หดตัว 7.8%YoY ถือเป็นการกลับมาติดลบในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์เป็นต้น เป็นต้น (ส่งออก 9 เดือนแรกทรงตัวที่ 0.03%)
• ญี่ปุ่น : หดตัวที่ 5.5%YoY ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และะเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น (ส่งออก 9 เดือนแรกหดตัว 7.3%)
• EU27 : ขยายตัว 4.1%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 9 เดือนแรกขยายตัว 8.0%)
• ASEAN-5 : หดตัว 6.7%YoY กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น (ส่งออก 9 เดือนแรกหดตัวเล็กน้อย 0.3%) มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ย. อยู่ที่ 25,588.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 9.9%YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เติบโต 8.9%YoY โดยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+25.7%YoY) สินค้าทุน (+13.8%YoY) และสินค้าอุปโภคบริโภค (+9.7%YoY) ต่างขยายตัว ขณะที่สินค้าเชื้อเพลิง (-11.3%YoY) กลับมาติดลบ ด้านการนำเข้าสินค้ายานพาหนะฯ (-36.6%YoY) ยังหดตัวต่อเนื่อง ส่วนดุลการค้าเดือน ก.ย. เกินดุลที่ 394.2 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ดุลการค้า 9 เดือนแรกของปีขาดดุล 5,956.8 ล้านดอลลาร์ฯ
Implication:
• จับตาโมเมนตัมการส่งออกแผ่วลงต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ในทิศทางที่อ่อนแอ การส่งออกสินค้าของไทยอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกเทียบรายเดือนกลับมาหดตัวที่ -0.8%MoM ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการยังหดตัว เช่น รถยนต์นั่ง รถปิ๊กอัพและรถบรรทุก เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ รวมถึงกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง รวมถึง ไก่สด แช่เย็น และแช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันถึงประมาณ 36.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ภาวะส่งออกที่อ่อนแรงลงยังสอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซี่งมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย. 2567 ต่างชะลอตัวลง มองต่อไปในระยะข้างหน้า การส่งออกยังมีแนวโน้มจะถูกกดดันปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากสัญญาณเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญที่อ่อนแอ รวมทั้งการยกระดับของปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Flash Manufacturing PMI) เดือน ต.ค. ของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น หดตัวลงพร้อมกันเป็นเดือนที่สี่แล้ว ปัจจัยหลักจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงต่อเนื่อง จากกำลังซื้อที่แผ่วลงในประเทศเศรษฐกิจหลัก ประกอบกับมีอุปสรรคในการผลิตจากปัญหาความล่าช้าด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นผลจากการปรับเส้นทางเดินเรือเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะขัดแย้งและสงคราม สอดคล้องกับมุมมองของ IMF ในรายงาน World Economic Outlook ล่าสุดของ IMF ในเดือน ต.ค. 2567 ที่เตือนว่า ความไม่แน่นอนจากภาวะขัดแย้งโดยเฉพาะการยกระดับของสงครามในบางพื้นที่ รวมถึงกระแสแยกขั้วที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำที่กดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกต่อไปในระยะข้างหน้า
ฉมาดนัย มากนวล
Krungthai COMPASS
ข่าวเด่น