แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK เผยแนวทางคุ้มครองผู้ประกอบการ ฝ่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ด้าน รมช.คลัง เปิด 5 ทางออก ช่วยเหลือการค้าไทย



EXIM BANK ร่วมกับ MARSH PB เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน และการใช้เครื่องมือทางการเงิน ทั้งสินเชื่อและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงขยายโอกาสการค้าการลงทุนโลกในงาน “Geopolitical Perspective : From Tension to Solutions” เพื่อแนะนำแนวทางให้แก่ผู้ประกอบการไทยไปใช้วางแผนธุรกิจให้สามารถรับมือกับปัจจัยท้าทายและสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน


ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า บริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเกิดจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก นำมาซึ่งความผันผวน โดยเฉพาะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เป็นความเสี่ยงต่อการค้าโลก ผู้ส่งออกจึงควรพร้อมรับมือและรู้จักการป้องกันความเสี่ยงอย่างครบวงจร เนื่องด้วยที่ผ่านมา Geopolitics ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของโลกไปจนถึงภาคธุรกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ รวมถึงสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้างและเริ่มบานปลาย ล้วนส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในหลายด้าน เช่น ต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากเส้นทางการเดินเรือได้รับผลกระทบ เพราะตอนนี้ จากการเดินทางส่งสินค้าไทยจากท่าเรือแหลมฉบัง ไปที่ท่าเรือในซีกโลกตะวันตก กินเวลานานขึ้นกว่า 6 อาทิตย์ เนื่องจากไม่สามารถขนส่งทะลุผ่านสุเอซได้แล้ว (เกิดสงครามในตะวันออกกลาง) ต้องอ้อมไปที่แหลมกู๊ดโฮปแทน จากต้นทุนขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นเหตุให้ทั้งราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นไปอีก เป็นปัญหาที่สามารถลุกลามได้ไม่รู้จบ

นอกจากนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในการกำหนดทิศทาง Geopolitics โลกในระยะถัดไป ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนโลกเป็นวงกว้าง เนื่องจากที่ผ่านมาทั้ง Trade War และ Tech War ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ต่างส่งผลต่อรูปแบบห่วงโซ่อุปทานโลก ไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศของสหรัฐฯ (Reshoring) หรือการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เป็นมิตรหรือประเทศที่วางตัวเป็นกลางเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า และยิ่งไปกว่านั้นนโยบายทางการเมืองของสหรัฐฯ นับเป็นตัวแปรที่จะมีอิทธิพลมากต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคในระยะข้างหน้า

ดังนั้นธุรกิจไทยจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้มีความสามารถตั้งรับกับความขัดแย้งทางโลกที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสที่สร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ โดยภาครัฐมีการออก 5 Solutions ที่จะสนับสนุนการค้าและการบริการของไทยให้มีความแข็งแกร่ง ภายใต้คลื่นลมที่ผันผวนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ดังนี้

1.การกระจายความเสี่ยง (Diversification) การที่สินค้าของไทยมีจำนวนประเภทที่ต่ำ และส่งออกไปยังคู่ค้า หรือคนซื้อสินค้ามีความกระจุกตัวสูง ถือเป็นความเสี่ยง เพราะแต่ละประเทศมีวัฏจักรขาขึ้นและขาลงของเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่แน่นอน จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการกระจายลักษณะสินค้าไปหลากหลายตลาด เช่นเดียวกับภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย การคาดหวังนักท่องเที่ยวเพียงกลุ่มเดียว ก็นับเป็นความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นโจทย์หลักของรัฐบาล คือการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว ในมิติของการบริหารรายได้จากการท่องเที่ยวตลอดปี โดยเฉพาะช่วง Low Season ที่จะมีการบริโภคน้อยกว่า High Season (เพราะช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของทุกปี เป็นช่วง Low Season มีคนมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายน้อยกว่าช่วงไตรมาสที่ 4 หรือช่วงปลายปี ที่เป็น High Season) ซึ่งภาครัฐเห็นศักยภาพของพื้นที่ทางตะวันออกกลาง ที่มีความพร้อมในการจัด Event และ Exhibition ต่าง ๆ และการสนับสนุนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลายชาติมากขึ้น เพื่อทำให้รายจ่ายตัวหัวสูงขึ้น

2.เป็น Supply Chain ของโลก ด้วยความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ที่มีการตัดสายการผลิตและการค้ากับประเทศที่มีความขัดแย้งตามพาดหัวข่าวที่ผ่านมา ถือเป็นช่องว่างที่สามารถเข้าไปแย่งชิงตลาดตรงนั้นได้ โดยใครที่สามารถเข้าไปเชื่อม Supply Chain ที่ถูกตัดขาดได้ก่อน คนนั้นจะได้เปรียบกว่าผู้ที่เป็นผู้ตามเสมอ ฉะนั้น ภาครัฐมีงานหลักคือสนับสนุนให้ธุรกิจไทยเข้าไปต่อสายการผลิตของโลกให้ได้ โดยจะมีการเชื่อม Supply Chain ให้กับหลายประเทศที่อยู่คนละขั้วอำนาจกัน เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงหากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมีปัญหา ก็ยังมีตลาดอื่น ๆ รองรับเอาไว้

3.ทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการแสวงหาตลาดและดึงเม็ดเงินจากทั่วโลกเข้ามายังประเทศไทยให้ได้ โดยรัฐบาลมีโจทย์หลัก คือ การเพิ่มกำลังซื้อ เพราะสิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศจะไม่มีทางเดินหน้าต่อได้ หากกำลังซื้อของคนในประเทศต่ำ ฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ภาครัฐต้องดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการทางการเงินเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อให้เกิดสภาพคล่องในการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เช่น การทำ Financial Inclusion ทำให้บริการทางการเงินรองรับคนทุกภาคส่วน ตั้งแต่กลุ่มคนที่มีฐานะไปจนถึงผู้ประกอบการ SME หรือแรงงานที่ยังอยู่นอกระบบ ให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อเสริมกำลังให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง เช่น การให้บริการจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เข้าไปเสริมธนาคารพาณิชย์ หรือการเกิดขึ้นของ Vertual Bank เป็นต้น

นอกจากนี้ การรักษาวินัยทางการคลังก็นับว่ามีความสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำให้เศรษฐกิจพัฒนาต่อไปอย่างมั่นคง เช่น การลดหนี้สาธารณะต่อจีดีพี โดยขยายให้จีดีพีโตเร็วกว่านี้ให้ได้ เพื่อทำให้สัดส่วนหนี้ลดลง รวมถึงการเพิ่ม Physical Space เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลง

4. ทำให้ไทยกลายเป็น Hub หรือศูนย์กลางในหลายๆ ภาคส่วน  เป็นการดึง Fund Flow หรือเม็ดเงินเข้ามารองรับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยภาครัฐมีการสนับสนุนเรื่องศูนย์กลางด้านการเงิน (Financial Hub) เพื่อสถาบันการเงินจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในประเทศ หรือการสร้างศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) รัฐบาลมีแผนจะพัฒนาสนามบินให้รองรับการ Transit ของสายการบิน และเตรียมปรับเปลี่ยนเส้นทางตารางบินให้เหมาะสม เพื่อเพิ่ม Transit Capacity ให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้ตอนนี้มีการขยายสนามบินต่าง ๆ เช่นโครงการสนามบินอันดามัน-ล้านนา เป็นต้น

5. การใช้มาตรการทางการเงินที่สมดุล ให้สามารถรับมือได้กับความผันผวนในตลาดการเงินของโลก เนื่องด้วยประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด ซึ่งจำเป็นต้องมีการค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้การเงินไทยมีสัมพันธ์กับโมเมนตัมของโลก สะท้อนให้เห็นจากสภาวะเงินเฟ้อ และอัตราการแลกเปลี่ยนของเงินตรา โดยการที่ค่าเงินบาทมีความเปลี่ยนแปลง นับเป็นต้นทุนอันมหาศาลของผู้ส่งออก ปัญหานี้จึงเป็นโจทย์หลักของรัฐบาลที่ต้องทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการทำให้มาตรการทางการเงินและการคลังมีความสอดคล้องกันเอง และสอดคล้อมตามโมเมนตัมของโลก

ทางรัฐบาลให้ความตั้งใจที่จะสร้าง Solution ออกมาต่อสู้กับความตึงเครียดที่เกิดขึ้นทางโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยกระทรวงการคลัง ร่วมกับ EXIM BANK ได้เข้าไปช่วยดูดซับความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออก SME ไทยด้วยบริการครบวงจร ทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องและปิดความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย เช่น EXIM Happy Export Credit สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 2 ปีแรก 3.25% ต่อปี เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจส่งออกและที่เกี่ยวเนื่อง หรือ Happy Foreign Exchange Forward Contract บริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษ เพื่อประกันการส่งออกและการประกันการลงทุนระหว่างประเทศ นับเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญที่เข้ามาช่วยรองรับความเสี่ยงในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หลายประเทศทั่วโลก

“คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Solution จะนำไปสู่แผนการปฏิบัติงานที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อประโยชน์ของทั้งประชาชนในประเทศ และประโยชน์ของประเทศในภาพรวม” ดร.เผ่าภูมิ กล่าวทิ้งท้าย


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยมุมมองของ EXIM BANK ที่มีต่อการค้าการลงทุนของโลกและไทย ที่เปลี่ยนไปจากปัญหา Geopolitics ว่า ประเทศจีน Dominated สัดส่วนการค้ากับสหรัฐถึง 16% ในช่วง 2556-2560 แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างกัน ทำให้สัดส่วนการค้าลดเหลือแค่ 10% ส่วนตลาดที่เหลือมีสัดส่วนการค้ากับสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนจีน และด้านภาคการลงทุนนั้น เมื่อก่อนสหรัฐมีการเร่งลงทุนในจีนเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี แต่ช่วงปัจจุบันลดการลงทุนลง 3% ซึ่งสัดส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นโอกาสให้กับอีกหลาย ๆ ประเทศได้อานิสงส์ไป

ส่วนปัญหาของ Tech War ที่เริ่มมาจากการแยกพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองทั้ง Semi-Conductor, Operating System (OS) และระบบ Cloud Computing ที่ทำให้โลกของ Tech- Supply Chain เกิดการแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝั่งสหรัฐ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์ ส่วนอีกฝั่งคือประเทศจีน ซึ่งการที่จีนมีเพียงตัวคนเดียว ทำให้ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่จีนเข้ามาลงทุนที่ไทยตอนนี้เป็นรูปแบบ Mega Factory โดยใช้เวลาเพียง 16 เดือน (ปกติต้องใช้เวลา 3 ปี) แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของจีนที่ยังคงยืนยันความเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญ และสร้างผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ได้

ดังนั้น จากปัญหาของ Tech War รวมถึง Trade War ก็ทำให้ช่วงเวลานี้ โลกมีการแบ่งฝั่งออกเป็น 2 ขั้ว (Bipolar World) ที่บีบให้ประเทศต่าง ๆ ต้องมีการเลือกข้างเกิดขึ้น โดยตอนนี้ในฝั่งสหรัฐ ที่มีพันธมิตรได้แก่ กลุ่ม EU แคนาดา อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ส่วนฝั่งจีนมีพันธมิตร ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส อิหร่าน เกาหลีเหนือ สปป.ลาว และกัมพูชา ทั้งนี้ยังมีส่วนที่ยังคงวางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักฝ่ายใด เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งแม้การวางตัวเป็นกลาง จะอาจทำให้ไทยได้ดุลการค้าที่สหรัฐ (จากมีความขัดแย้งกับจีน) โดยสหรัฐได้ทำการค้ากับไทยในสัดส่วนมากขึ้นอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้สิ่งที่เสียไปคือ เมื่อจีนไม่สามารถทำการค้ากับทางสหรัฐและกับโลกตะวันตกไม่ได้เหมือนเดิม ทำให้สินค้าเหล่านั้นตกมายังที่ประเทศไทย ซึ่งไทยมีการขาดดุลจีนอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการได้ไม่คุ้มเสีย ทำให้โจทย์หลักของไทยตอนนี้คือในฐานะที่ตั้งตัวเป็นกลาง ต้อง Positioning ตัวเองให้มีศักยภาพการแข่งขันทางการค้าโลกให้ได้

ส่วนแนวทางการปฏิบัติของภาคธุรกิจในระยะข้างหน้าเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้าน Geopolitics นั้น ดร.รักษ์ กล่าวว่า “ปกติไทยมีการส่งสินค้าไปซีกโลกตะวันตกจะทะลุผ่านคลองสุเอซ แต่ตอนนี้ทางประธานาธิบดีของอิหร่านบอกแล้วว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น น้ำมันเพียงหยดเดียวก็ไม่ให้ออกจากคลองสุเอซ นับเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ต้องแบกรับค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น และการเดินทางอ้อมกว่า 6,000 กิโล ส่งผลให้กินเวลาเกือบ 2 อาทิตย์ ผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับโลกในปัจจุบัน ทำให้การทำ Business Plan รายปี อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ในช่วงปี 2568 ผมมองว่าอาจต้องทำ Business Plan ราย 3 เดือน โดยต้องมีการเพิ่มตัวแปรเข้ามาอีก 3 ตัวแปรในการประกอบทำแผนธุรกิจในระยะเวลาต่อไป ได้แก่ 1. Unexpected Events 2.Worst Case Scenario และ 3.New World Order”

ซึ่งด้วยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังแบกรับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างผู้ท้าชิงระหว่างกมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเนื่องจากคะแนนที่สูสีกันจึงไม่อาจคาดเดาได้ว่าใครจะได้กุมบังเหียนสหรัฐคนต่อไป แต่สิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้เลย คือ แนวทางการดำเนินนโยบายที่มีความแตกต่างกัน โดยในฝั่งของกมลาจะยึดหลัก “ยุติธรรม” ฉะนั้นจะมีการเล่นตามกติกาที่วางไว้อย่างเด็ดขาดและเคร่งครัด ซึ่งอาจทำให้ GDP Growth ของสหรัฐมีการเติบโตที่ดีกว่าฝั่งทรัมป์ เนื่องจากทรัมป์นั้น ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่คาดเดาได้ยาก และมีความสุดโต่งสไตล์อนุรักษ์นิยม ทำให้มีความเสี่ยงว่าหากทรัมป์หวนคืนตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ อาจก่อสงคราม Trade War ที่ตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 60% ยกเลิกนโยบาย Go Green เพราะจะเน้นส่งออกพลังงาน ซึ่งจะทำให้โลกเกิดความผันผวนที่อาจส่งผลเป็น Worst Case Scenario เกิดขึ้นในหลายภาคส่วน

โดยสิ่งที่มาพร้อมกับ Worst Case Scenario หากทรัมป์ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คือมีโอกาสที่โลกจะเกิด Direct War ไม่ใช่สงครามตัวแทนอย่างที่ผ่านมา และจะส่งผลกระทบไปยังภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย เช่นในเรื่องความผันผวนของราคาน้ำมันที่มีโอกาสพุ่งขึ้นสูง และบั่นทอนเศรษฐกิจโลก ซึ่ง ดร.รักษ์ แนะนำว่าการซื้อทองคำอาจเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะราคาจะมีแนวโน้มพุ่งขึ้นสูงจากระดับราคาปัจจุบันไปที่บาทละ 48,000-52,000 บาท

 

 

“นอกจากนี้ความขัดแย้งที่เป็น Direct War ยังมีโอกาสจุดฉนวนให้เกิดวิกฤต ตาม Heat Map ภาพด้านบน ที่มีความขัดแย้ง Geopolitics อยู่ทั่วทุกมุมโลก อย่างเช่นในโซนสีแดงเข้มที่มีความรุนแรงมากที่สุด ฉะนั้นภาคธุรกิจส่งออกจึงต้องใส่เสื้อเกราะให้ตัวเอง ทั้ง Forward Contract, Option หรือทำ Export Credit Insurance เนื่องจาก Rate ในปีนี้สูงขึ้นเกือบ 2 เท่า เทียบจากปีที่แล้ว จึงมีโอกาสที่คู่ค้าที่เคยค้าขายกันอยู่ดี ๆ อาจจะเบี้ยวได้ง่าย ๆ” ดร.รักษ์ กล่าว

ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องวางแผน นอกจากการเพิ่มทั้ง 3 ตัวแปรเข้ามาประกอบการทำBusiness Plan แล้ว ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทั้ง 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่

1.Scenerio Planing ประเมินความเสี่ยงด้วยการสร้างสถานการณ์จำลอง

2.Supply Chain Resilience สร้างความยืดหยุ่นให้ห่วงโซ่การผลิต ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของ Suppliers (หากมีเจ้าไหนส่งให้ไม่ได้ จะได้มีเจ้าอื่น ๆ ส่งของให้) นอกจากนี้ต้องมีการประเมินระดับสินค้าคงคลังที่เหมาะสม และเตรียมเส้นทางขนส่งที่หลากหลาย เพื่อรับมือกับความเสี่ยงไม่ให้สายการผลิตหยุดชะงัก

3.Market Diversification กระจายตลาดส่งออก ด้วยการขยายไปตลาดใหม่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพและเพิ่มความหลากหลายของสินค้า (Product Line) ตามเทรนด์ความต้องการของโลก

ผนวกเข้าด้วยกับการใช้ตัวช่วย Risk Protections กับทาง EXIM BANK เช่น ประกันการผิดนัดชำระค่าสินค้าส่งออก (Export Credit Insurance) การประกันความเสี่ยงที่อาจได้รับความเสียหายจากกฎระเบียบหรือรัฐบาลประเทศที่เข้าไปลงทุน (Political Risk Insurance: PRI) และซื้อขายสัญญาเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อป้องกันความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Forward Contract)

ทั้งนี้ EXIM BANK ยังร่วมมือกับ MARSH PB บริษัทโบรกเกอร์ประกันภัยและที่ปรึกษาความเสี่ยงชั้นนำของโลก สร้างองค์ความรู้และความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทย ผ่านมุมมองการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์และแนวโน้มของปัญหา Geopolitics ตลอดจนคำแนะนำถึงกลยุทธ์และเครื่องมือทางการเงินในการรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบริการประกันการส่งออกและการลงทุน ในการรับมือกับความท้าทายจาก Geopolitics ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั้งสองหน่วยงานจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย มีความพร้อมที่จะเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจระหว่างประเทศได้มากขึ้นอย่างมั่นใจท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์ Geopolitics โลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พร้อมช่วยให้ภาคธุรกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เสริมสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน และช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงยั่งยืนในอนาคต

นางสาวซีริน ซูม ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายผลิตภัณฑ์การประกันภัย ความเสี่ยงภัยด้านการลงทุนและการประกันภัยเฉพาะทางด้านสินเชื่อ-ภูมิภาคเอเชีย MARSH Credit Specialty Singapore กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกระทบกับเสถียรภาพของโลก และกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย เช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุด การขบเคี้ยวระหว่างสหรัฐอเมริกา ที่ต้องมีการต่อกรกับอีกหลายประเทศยักษ์ใหญ่อย่างต่อเนื่อง หรือความขัดแย้งทางเลบานอนกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่ลุกลามจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงปัญหา Geopolitics ที่ยังคงอยู่และมีโอกาสที่สถานการณ์จะมีความรุนแรงลุกลามต่อไปในปีหน้า ทั้งนี้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ เช่นความไม่แน่นอนของหนี้ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และนโยบายการค้าการลงทุน ก็ส่งผลให้ทิศทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทายที่มากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต บริษัทจึงมีการออกมาตรการคุ้มครองทางการเงินกับนักลงทุนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการจลาจล การรัฐประหาร หรือปัญหาทางด้านรัฐศาสตร์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในอนาคต

“ความร่วมมือกับ MARSH PB ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งภารกิจของ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังที่มุ่งดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาโดยขยายความร่วมมือกับพันธมิตร เติมเต็มข้อมูลความรู้ โอกาสและเครือข่ายทางธุรกิจ ตลอดจนเครื่องมือทางการเงิน รวมถึงเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านการส่งออกและลงทุนให้ผู้ประกอบการไทยได้ก้าวเป็นนักรบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดการค้าและประเทศเป้าหมายการลงทุนที่มีจำนวนมากมายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก” ดร.รักษ์ กล่าว

 

LastUpdate 31/10/2567 21:01:12 โดย : Admin
11-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 11, 2025, 10:54 pm