น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และโฆษก ธปท. เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.67 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ดี รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อน ที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ หมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นตามราคาผัก ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากทั้งรายรับภาคท่องเที่ยว รวมถึงการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจ ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน
• มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ ลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวดโดยเฉพาะ 1) ยานยนต์ ตามการส่งออกรถยนต์นั่ง และรถกระบะไปยังตลาดอาเซียน และออสเตรเลีย 2) สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ที่ลดลงหลังเร่งส่งออกไปในเดือนก่อนตามอุปทานที่ขาดแคลนในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการส่งออกยางไปอินเดีย และน้ำตาลไปกัมพูชา และ 3) เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมีภัณฑ์ ตามการส่งออกปิโตรเคมีไปจีนที่ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การส่งออกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ปรับเพิ่มขึ้นตามการส่งออกไปตลาดอาเซียน สอดคล้องกับแนวโน้มการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มทยอยปรับดีขึ้น
• มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดจาก 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไต้หวัน รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 2) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากไต้หวัน และ 3) สินค้าอุปโภคและบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์จากจีน และผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม
• เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลงมาก ตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถกระบะ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทน ลดลงจากปริมาณการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ดี ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เงินโอน 10,000 บาท) ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดบริการทรงตัว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ลดลงต่อเนื่องตามความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วม ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ
• ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ที่ปรับลดลงตามการผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศ หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ลดลงตามการผลิตน้ำมันปาล์มที่วัตถุดิบน้อยลง และอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่อุปสงค์คู่ค้าชะลอตัว อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังหลังอยู่ในระดับต่ำในเดือนก่อนหน้า
• เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รวมถึงเครื่องมือและเครื่องจักรที่ใช้ในงานทั่วไปเป็นสำคัญ ด้านยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ ทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลงเล็กน้อย สำหรับการลงทุนด้านก่อสร้าง ปรับลดลงจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ ขณะที่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ปรับเพิ่มขึ้นจากหมวดซีเมนต์ และเครื่องสุขภัณฑ์
• จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 2.5 ล้านคน ลดลงจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอการเดินทาง เพื่อรอท่องเที่ยวช่วงเทศกาลหยุดยาววันชาติจีน (Golden Week) อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปที่เพิ่มขึ้น ตามจำนวนนักท่องเที่ยวระยะยาว (long-haul)
• การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และค่าตอบแทนพนักงานของรัฐ ด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านคมนาคม และชลประทาน อย่างไรก็ตาม รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ หดตัวจากการเบิกจ่ายโครงการด้านคมนาคมทางราง และสาธารณูปโภค
• ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 0.61% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก โดยหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ หมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นตามราคาผัก และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น จากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ที่ 600 ล้านดอลลาร์ เกินดุลลดลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากทั้งรายรับภาคท่องเที่ยวและการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจ ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน
• ตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน โดยภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวการจ้างงานปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคก่อสร้างและการค้าปรับแย่ลง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวม ที่ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกช่องทาง โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านสินเชื่อภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นหลังลดลงในช่วงก่อนหน้า จากสินเชื่อธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ขนส่ง รวมถึงอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้างปรับลดลง
• สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับแรงกดดันจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่านำสกุลเงินอื่นในภูมิภาค
โฆษก ธปท. กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ว่า ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าที่เร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับได้รับผลดีจากปัจจัยชั่วคราวในบางสินค้า รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวสูงจากทั้งรายจ่ายลงทุนและประจำ หลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ ประกอบกับและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายรับภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อย ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่าไตรมาสก่อน จากหมวดพลังงาน ตามราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และผลของฐานราคาน้ำมันเบนซิน และค่าไฟฟ้าที่สูงในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงเป็นสำคัญ
ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการจ้างงานทั้งในภาคการผลิต และบริการ สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับลดลง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยระยะต่อไป ธปท.มองว่า ยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัว แต่มีบางอุตสาหกรรมที่จะยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจ และรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง
นอกจากนี้ ต้องติดตามปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป เช่น 1.การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต 2.การใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และ 3.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
ข่าวเด่น