สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ศูนย์ฯ ส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ เชื่อมโยงกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักช่วงต้นเดือน พ.ย. 67 โดยถอดบทเรียนการดำเนินงานในพื้นที่ภาคเหนือ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพรับมือน้ำท่วม - ดินโคลนถล่ม ลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
วันนี้ (31 ต.ค. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า วานนี้ (30 ต.ค.67) ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ครั้งที่ 2/2567 โดยจากการติดตามข้อมูลคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคใต้ตอนบนในช่วงเดือน ต.ค. - พ.ย. 67 และพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. 67 ประกอบกับอาจเกิดหย่อมความกดอากาศหรือพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านเข้ามา จะส่งผลให้มีฝนตกในบริเวณพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ในช่วงวันที่ 1 – 3 พ.ย. 67
ก่อนจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและจะเริ่มมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 4 พ.ย. 67 ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูลและสงขลาบางส่วน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม และการเตรียมการช่วยเหลือประชาชนในการอพยพ โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำเตรียมพร้อมการใช้งานของสถานีเตือนภัยน้ำท่วม - ดินถล่ม (Early Warning System) ให้มีความพร้อมสูงสุด
รวมทั้งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในจุดเสี่ยงอุทกภัยและเส้นทางคมนาคมสายหลัก โดยเน้นย้ำให้กรมประชาสัมพันธ์ติดตามข้อมูลสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทันเวลาและครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพื่อการเตรียมความพร้อมตั้งรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุด
“เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มในช่วงฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้ปีนี้ สทนช. ได้ถอดบทเรียนการดำเนินงานในพื้นที่ภาคเหนือในห้วงที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยช่วงที่ผ่านมา นำมาใช้สำหรับปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีศูนย์ฯ ส่วนหน้า จ.ยะลา เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงคณะกรรมการลุ่มน้ำทุกลุ่มน้ำ เพื่อบูรณาการการดำเนินงานอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ ช่วยลดผลกระทบทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยได้เน้นย้ำในเรื่องของ
การประเมินสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยทั้งน้ำท่วมและดินโคลนถล่มอย่างทันท่วงที รวมถึงให้ความสำคัญเรื่องของการเตรียมความพร้อมสูงสุดในการวางแผนรองรับการอพยพของประชาชนเมื่อเกิดกรณีจำเป็น ทั้งนี้ จากการติดตามปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี - ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ปัจจุบันสถานการณ์น้ำอยู่ในสภาวะปกติไม่มีปัญหาน้ำล้นตลิ่ง ในส่วนของปริมาณน้ำของแม่น้ำปัตตานี บริเวณสถานี X.40A อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และสถานี X.275 อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีก 7 วันข้างหน้า แต่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่ง โดยศูนย์ฯ ส่วนหน้าจะติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว
ข่าวเด่น