การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. 2567 เป็นตัวแปรที่กำหนดทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง ทั้งสองพรรคมีแนวโน้มที่จะยังคงสานต่อนโยบายการกีดกันการค้ากับจีนแต่ในระดับที่ต่างกัน อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการขาดดุลทางการคลังตามนโยบายการใช้จ่ายทางการคลังและภาษีที่แตกต่างกันออกไป ท่ามกลางความท้าทายทางการคลังของสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ต้องเผชิญจากระดับหนี้สาธารณะ การขาดดุลทางการคลัง และการจ่ายดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สะท้อนภาพชะลอตัวลง ขณะที่การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการคลังยังขี้นอยู่กับเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ซึ่งผลการเลือกตั้งสามารถแบ่งได้ 3 กรณี ที่จะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าเงิน รวมถึงสถานะทางการคลังของสหรัฐฯ ที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. กรณี 1 พรรครีพับลิกันนำโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งและสามารถครองเสียงข้างมากทั้งสภาบนและสภาล่าง (Republican Sweep): มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเผชิญกับ Stagflation ในระยะยาวจากมาตรการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้า มาตรการกีดกันแรงงานอพยพ และมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและครัวเรือน ที่คาดว่าจะส่งผลให้การขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ ค่าเงินดอลลาร์ฯ มีแนวโน้มแข็งค่าในระยะสั้น
2. กรณี 2 พรรคเดโมแครตนำโดย คามาลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้งและสามารถครองเสียงข้างมากทั้งสภาบนและสภาล่าง (Democratic Sweep): เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยความเสี่ยงเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้ และการขาดดุลการคลังคาดว่าจะไม่สูงเท่ากรณี 1
3. กรณี 3 ไม่มีพรรคไหนครองเสียงข้างมากได้ทั้งสองสภา (Split Congress or Divided Government): ความเสี่ยง stagflation ยังมีอยู่ หากโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2025 ยังไม่แน่นอน เนื่องจากนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางการคลังอาจต้องใช้เวลากว่าจะผ่านมติสภา
ข่าวเด่น