การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
โมเดลใหม่...ประมงสมุทรสงครามเปิดตัวกิจกรรม "สิบหยิบหนึ่ง" ปราบปลาหมอคางดำ จับมือเกษตรกรร่วมแก้ปัญหาในบ่อเลี้ยงเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติ


 

สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ผนึกกำลังเกษตรกร และภาคเอกชน รวมทั้ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำร่องโมเดลใหม่แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ หลังจากปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ถูกกำจัดออกจากแหล่งน้ำพร้อมกับช่วยเยียวยาเกษตรกร ผ่านกิจกรรม 'สิบหยิบหนึ่ง' ปราบปลาหมอคางดำ โดยสนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพงขาวให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการนำไปปล่อยลงในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำช่วยกินตัวอ่อนของปลาหมอคางดำ บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ลดความเสียหายของผลผลิต และสร้างการมีส่วนร่วมช่วยเพิ่มจำนวนพันธุ์ปลาเศรษฐกิจที่เป็นนักล่าช่วยกำจัดปลาหมอคางดำแบบบูรณาการเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
 
 
นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า จากการระดมความร่วมมือของหลายหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่นและภาคีภาคเอกชนบูรณาการจัดการปลาหมอคางดำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ครอบคลุมกว่า 70% ของแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัด พบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำเบาบางลงอย่างมีนัยสำคัญ ปลาหมอคางดำที่จับได้ตัวเล็กลง ปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์หายไป เป็นแนวโน้มว่าปลาหมอคางดำในสมุทรสงครามลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ สมุทรสงครามยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร และภาคเอกชนดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมปลาหมอคางดำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการหาแนวทางใหม่ๆ ในการจัดการปลาหมอคางดำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 
สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในการดำเนินกิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” โมเดลใหม่ในการกำจัดปลาหมอคางดำแบบบูรณาการ 3 ประสาน รัฐ-เอกชน-เกษตรกร พร้อมมอบลูกพันธุ์ปลากะพงขนาด 4-5 นิ้วจำนวน 10,000 ตัวที่ได้รับการสนับสนุนจากซีเอฟ เพื่อปล่อยลงสู่บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร โดยแบ่งให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ ในพื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง 5 รายๆ ละ 1,000 ตัว และเกษตรกรในตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา 50 รายๆ ละ 100 ตัว เพื่อให้ปลากะพงขาวช่วยกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ และเมื่อครบกำหนด 3 เดือน เกษตรกรจะนำปลากะพงขาวที่มีขนาดโตขึ้นและมีขีดความสามารถในการล่าส่งมอบคืนให้สำนักงานประมงสมุทรสงครามจำนวน 10% ของจำนวนปลาที่ได้รับการสนับสนุน สำหรบนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัดต่อไป

 
“กิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” เป็นโมเดลใหม่ที่ประมงสมุทรสงครามริเริ่มขึ้น ต่อยอดหลังจากปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ในแหล่งน้ำลดลง เพื่อที่จะช่วยเยียวยาเกษตรกรเจ้าของบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ และเป็นสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการแก้ปัญหานี้ควบคู่กัน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้เลี้ยงปลากะพงขาวซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ในเวลาเดียวกัน” นายบัณฑิตกล่าว

 
ประมงจังหวัดสมุทรสงครามได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา สนับสนุนพันธุ์ปลากะพงขาวให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 7 รายรายละ 1,000 ตัว พันธุ์ปลากะพงขาวได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายองค์กรเอกชนซึ่งซีพีเอฟร่วมสนับสนุนพันธุ์ปลากะพง 3,000 ตัว จากการติดตามผลพบว่าปลากะพงขาวที่ปล่อยลงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรมีขนาดโตขึ้น มีอัตรารอดที่ดี ช่วยกำจัดลูกปลาหมอคางดำได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ กำลังเตรียมส่งคืนปลากะพงขาวที่โตขึ้นและมีความเป็นนักล่ามากขึ้นประมาณ 400 กว่าตัวให้กับประมงจังหวัดเพื่อปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

 
ประมงสมุทรสงครามเดินหน้าเต็มกำลังในการควบคุมและกำจัดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ นอกจากโครงการ 'สิบหยิบหนึ่ง' ยังจัดตั้ง 'กองทุนกากชา' ช่วยเกษตรกรยืมใช้ฟรี พร้อมรณรงค์ป้องกันปลาหมอคางดำแพร่ระบาดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ มุ่งแก้ปัญหาแบบครบวงจร ทั้งลดต้นทุนเกษตรกร และรักษาคุณภาพผลผลิตสัตว์น้ำให้เติบโตเต็มที่./

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 พ.ย. 2567 เวลา : 20:06:02
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 1:48 am