แบงก์-นอนแบงก์
Scoop : ออมสิน เปิดตัวแอป GOOD MONEY บริการสินเชื่อของรัฐ อนุมัติเร็ว ตั้งเป้า 4 ปี ปล่อยกู้ได้ 500,000 ราย


 

ออมสิน เปิดตัว GOOD MONEY แอปพลิเคชั่นบริการสินเชื่ออนุมัติเร็ว ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมเริ่มต้นที่ 19% เพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมในสังคมด้วยการดึงคนฐานรากเข้าสู่ระบบสินเชื่ออย่างถูกกฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการเป็นหนี้นอกระบบ และบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน ด้วยการวางเป้าหมายการออกสินเชื่อเพื่อสร้างรายได้ในทุกกลุ่มอาชีพ ตั้งเป้า 4 ปี ปล่อยกู้ดึงคนเข้าสู่ระบบ 5 แสนราย
 
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายใต้บทบาทของธนาคารออมสิน ที่มีจุดยืนเป็นธนาคารเพื่อสังคม ธนาคารมีการตั้งเป้าปรับลดกำไรลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อสร้าง Social Impact หรือการขยายผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม โดยได้มีการนำกำไรจากธุรกิจเชิงพาณิชย์ ประมาณ 15,000 - 20,000ล้านบาทต่อปีขึ้นไป มาช่วยเหลือประชาชนฐานรากและสร้างประโยชน์ให้สังคมมากขึ้น ผ่าน 3 ภารกิจหลักคือ 1. Financial Inclusion การดึงคนเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการทางการ 2.การแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้น และ 3. การสร้างอาชีพ ให้คนมีรายได้เพิ่ม และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อให้เลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน
 
โดยการจัดตั้งบริษัท เงินดีดี จำกัด กิจการ Non-Bank ในเครือของธนาคารออมสิน ที่เปิดให้บริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน ชื่อว่า “GOOD MONEY - เงินดีดีเพื่อคนไทย แพลตฟอร์มสินเชื่อเพื่อความเท่าเทียมในสังคม” เป็นผลของการเดินหน้าขยาย Social Impact ผ่านภารกิจ Financial Inclusion เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งหลักเกณฑ์ของระบบธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ ทำให้ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ หรือสินเชื่อในระบบที่ดอกเบี้ยสูงเกินจริง
 
ฉะนั้นการมาของ GOOD MONEY ผู้ให้บริการสินเชื่อประเภท Non-Bank ภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น จะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ตกเกณฑ์การขอสินเชื่อของธนาคาร จากที่ธนาคารออมสินไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้กับคนที่ไม่มีหลักประกัน หรือที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (เพราะธนาคารออมสินให้สินเชื่อได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งรับ NPL หรือความเสี่ยงได้ไม่มากนัก) ให้ยังสามารถทำการกู้สินเชื่อในระบบด้วยอัตราที่เป็นธรรม ซึ่งดึงให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นบ้างเพื่อรับความเสี่ยงได้มากขึ้น แต่ยังอยู่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดและต่ำกว่าหนี้นอกระบบ GOOD MONEY จึงนับเป็นบริการสินเชื่อที่สามารถดึงคนเข้าสู่ระบบได้ประมาณหลักแสนคนต่อปีขึ้นไป ลดปัญหาหนี้นอกระบบ ขยายสภาพคล่อง ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างยั่งยืน
 
ส่วนในเรื่องประเด็นการเกิดหนี้ NPL จากการเปิดให้ผู้ที่ไม่มีหลักประกันสามารถขอกู้ได้ผ่าน GOOD MONEY นั้น นายวิทัยกล่าวว่า “ธุรกิจสินเชื่อ กับการเกิด NPL ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยของเงินดีดีที่ปรับให้สูงขึ้นเล็กน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน จะเป็นการชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้”
 
 
 
ด้าน นางสาวสิรินันท์ จิรดิลก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เงินดีดี จำกัด เปิดเผยว่า แพลตฟอร์ม GOOD MONEY - เงินดีดีเพื่อคนไทย จะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน และส่งมอบประสบการณ์ใช้บริการสินเชื่อดิจิทัลที่เข้าถึงง่ายและครบวงจร โดยบริษัทขับเคลื่อนการบริการผ่าน 4 ภารกิจหลักคือ
 
 
1. Digital Lending แพลตฟอร์ม GOOD MONEY เป็นบริการสินเชื่อออนไลน์ที่ประชาชนทุกคนสามารถสมัครขอสินเชื่อด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกที่ทุกเวลา โดยที่บริษัทจะมีการใช้ Alternative Data ข้อมูลปัจจัยแวดล้อมอื่น เช่น ค่าสาธารณูปโภค พฤติกรรมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มาประกอบการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงการใช้ Technology Driven ที่นำระบบ AI และเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความรวดเร็วและปลอดภัย มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลและประเมินความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งสามารถอนุมัติได้ภายใน 30 นาทีหากข้อมูลครบถ้วนและมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์

2. สินเชื่อเพื่อสร้างรายได้  แพลตฟอร์ม GOOD MONEY  จะนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) อัตราดอกเบี้ย 19-25% และ Nano Finance อัตราดอกเบี้ย 29-33% โดยสินเชื่อทั้งหมดมุ่งเน้นการสร้างหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Productive Loan) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือผู้ที่อยากมีอาชีพสำรองสามารถออกสินเชื่อเอาไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ เป็นการเพิ่มสัดส่วนหนี้เพื่อสร้างรายได้ในระบบ นอกจากนี้จะมีการรีไฟแนนซ์สินเชื่อประเภท Nano Finance ที่อาจเคยได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูง เปลี่ยนถ่ายเข้ามาใน GOOD MONEY ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง เป็นการขยายเพดานให้ผู้ประกอบการมีการต่อยอดในเส้นทางอาชีพได้เพิ่มมากขึ้น

3. Responsible Lending ให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ด้วยการใช้ระบบการประเมินคุณสมบัติผู้ขอกู้ที่พิจารณาจากอัตราส่วนภาระการชำระหนี้ต่อรายได้ (DSR) และอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) โดยจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาคือ ถ้าเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล จะใช้สลิปเงินเดือน (Pay Slip) และ Statement ในกรณีที่เป็นพนักงานประจำ ส่วนพ่อค้าแม่ค้า ก็จะใช้ Statement อย่างเดียว พร้อมทั้งจะมีการใช้ข้อมูลปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ หรือ Alternative Data เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งหากผู้ขอสินเชื่อมีความเสี่ยงสูง ก็จะมีโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ยสูงตามไปด้วย แต่หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดทันที นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมวินัยทางการเงินของลูกค้า ให้มีการชำระตามเกณฑ์ที่กำหนด และทำการตรวจสอบสัดส่วนหนี้กับรายได้อย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ขอสินเชื่อจะมีรายได้เพียงพอไปใช้หนี้ ไม่ก่อให้เกิดหนี้เรื้อรัง

4. GSB Lending Ecosystem เนื่องด้วยในฐานะที่เป็นบริษัทในเครือของธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อสังคม ที่มุ่งมั่นในการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าสู่ระบบสินเชื่ออย่างเป็นธรรม สำหรับผู้ที่ตกเกณฑ์ของธนาคารออมสิน จะมีการส่งถ่ายลูกค้ามายังบริษัทเงินดีดี เพื่อเข้ารับสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์ม GOOD MONEY แทน ซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าทางธนาคารออมสินเล็กน้อย แต่ดีกว่าระดับตลาดและดีกว่าอัตราของหนี้นอกระบบ และเมื่อลูกค้ากลุ่มนี้มีการชำระหนี้ที่สม่ำเสมอ มีประวัติเครดิตดีขึ้น ทางบริษัทเงินดีดี ก็จะทำการคัดคนกลุ่มนี้ส่งกลับไปให้ขอสินเชื่อกับทางธนาคารซึ่งจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง  ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทได้ทดสอบ และมีการปล่อยสินเชื่อออกไปแล้วประมาณ 5,000 ราย หรือคิดเป็นมูลค่าสินเชื่อ 100 ล้านบาท โดยใน 10-20% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด เป็นการโอนลูกค้าจากทางออมสินที่ไม่ผ่านเกณฑ์สินเชื่อของธนาคาร
 
 
“เงินดีดีจะเข้ามาตอบโจทย์กับกลุ่มคนนอกระบบ ที่มีความเสี่ยงเกินกว่าที่ธนาคารจะให้สินเชื่อได้  ซึ่งคาดว่า 4 ปีน่าจะช่วยเหลือคนฐานรากให้เข้าสู่ระบบผ่านเงินดีดีได้ 5 แสนราย ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มของลูกค้ากลุ่มที่ไม่เคยเข้าสินเชื่อได้เลย และกลุ่มที่เคยเข้าถึงสินเชื่อได้ แต่ 6 เดือนที่ผ่านมาอาจขอสินเชื่อไม่ผ่าน ซึ่งการสามารถดึงกลุ่มคนเหล่านี้กลับเข้ามาในระบบสินเชื่อได้ จะเป็นการทำให้พวกเขามีประวัติเครดิตดีขึ้น เป็นทั้งการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะการเข้าถึงดอกเบี้ยที่ถูกลงได้ เท่ากับพวกเขาสามารถจ่ายเงินต้นได้มากขึ้น ปลดหนี้ได้เร็วขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนไทยเกิดความเท่าเทียม และยังกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน” นายวิทัยกล่าว
 
ทั้งนี้ บริษัท เงินดีดี จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารออมสิน (49%) และบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด (51%) กลุ่มบริษัทในเครือธนาคารออมสิน ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม SMEs บริษัท เงินดีดี มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 400 ล้านบาท ให้บริการแพลตฟอร์มสินเชื่อดิจิทัลเพื่อสังคม GOOD MONEY - เงินดีดีเพื่อสังคม สร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมเพื่อการประกอบอาชีพและสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารการใช้จ่ายอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเมื่อเดือนมิถุนายน 2567
 
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Good Money by GSB ได้แล้ว ทั้งในระบบ iOS และ Android โดยลูกค้าธนาคารออมสินสามารถยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ส่วนลูกค้าทั่วไปสามารถยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนที่สาขาธนาคารออมสิน ทั่วประเทศ ติดตามรายละเอียดที่ https://goodmoneybygsb.com/ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ https://goodmoneybygsb.go.link/64pm7

LastUpdate 06/11/2567 10:32:16 โดย : Admin
12-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 12, 2025, 2:03 am