เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 3/2024 ชะลอลงเล็กน้อย มองทั้งปี 2024 โตได้ 5.0%"


เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 3/2024 ขยายตัว 4.95%YoY ชะลอลงเล็กน้อยเทียบกับไตรมาส 2/2024 ที่ขยายตัว 5.01%YoY (รูปที่ 1) เป็นการฉุดจากการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัว แม้ว่าการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนจะเติบโตเร่งขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 ยังเติบโตที่ 5.03%YoY


- การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3/2024 เติบโตช้าลงมาอยู่ที่ 4.91% (รูปที่ 2) สาเหตุสำคัญยังคงมาจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคในการให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพตั้งแต่ไตรมาส 1/2024 และการแจกข้าวสารให้แก่ครัวเรือนที่สิ้นสุดในไตรมาส 2/2024 ประกอบกับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมกำลังถูกปลดจากปัญหาสินค้าจีนที่ไหลเข้ามาส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อย่างไรก็ดี การบริโภคที่ยังเติบโตในไตรมาส 3/2024 ได้แรงหนุนสำคัญจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตลอดทั้งไตรมาส จนล่าสุดมาอยู่ที่ 1.6% ในเดือน ต.ค.2024 เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ช่วยลดภาระการบริโภคในระดับหนึ่ง 
 
- การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวเร่งขึ้นจากฐานที่ต่ำ 9.01%YoY ช่วยพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2024 โดยเฉพาะการส่งออกบริการขยายตัวสูงถึง 17.6% YoY และน่าจะส่งผลบวกตลอดทั้งปี ด้วยแรงส่งของยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไตรมาสนี้อยู่ 3.93 ล้านคน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 18.2%YoY คาดว่าการทยอยฟื้นตัวกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2024 จะยังคงอยู่ระดับต่ำกว่าก่อน COVID-19 ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัว 8.2%YoY ผลกระทบจากมาตรการจำกัดการส่งออกแร่ดิบเริ่มแผ่วลง
 
- การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 3/2024 แต่ยังเติบโตจำกัดที่ 4.62%YoY และ 5.15%YoY ตามลำดับ ส่วนหนึ่งจากแผนงานของภาครัฐภายใต้การนำของนายปราโบโว ซูเบียนโตเริ่มชัดเจน และมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ก.ย. มีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาพรวม 


• เศรษฐกิจอินโดนีเซียทั้งปี 2024 คาดว่าจะรักษาการเติบโตได้ที่ 5.0% เท่ากับคาดการณ์โดย Bloomberg โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีคาดว่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านๆ มาที่ 5.0% ในขณะที่มาตรการภาครัฐในช่วงโค้งสุดท้ายภายใต้การนำของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโตที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง น่าจะทยอยเปิดเผย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในการประชุมที่เหลือในเดือน พ.ย. และเดือน ธ.ค. ของปีนี้ 
 
• ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่ต้องติดตาม ดังนี้
 
- เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลต่อการส่งออกในปี 2024 โดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างจีนที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง รวมถึงมาตรการภาคสนับสนุนการใช้ปาล์มน้ำมันเพื่อทำไบโอดีเซลในประเทศให้มีสัดส่วนสูงขึ้นเป็น B40 (จาก B35) มีส่วนทำให้การส่งออกปาล์มน้ำมันลดลง ฉุดการส่งออกของอินโดนีเซียต่อเนื่องในปี 2025 
 
- การไหลเข้ามาของสินค้าจีนส่งผลต่อการผลิตในประเทศ สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่องตลอดไตรมาส 3/2024 โดยอยู่ที่ 49.2 ในเดือน ก.ย. โดยเฉพาะการปิดโรงงาน ลดการจ้างงานในอุตสาหกรรมเบาที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) อย่างการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าต้องแข่งขันกับสินค้าจีนที่ไหลเข้ามา (รูปที่ 3) ทั้งนี้ ทางการอินโดนีเซียได้นำมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) มาใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศโดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในกลุ่มสิ่งทอโดยเริ่ม 9 ส.ค. 2024 ถึงปี ส.ค. 2027 

 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 พ.ย. 2567 เวลา : 17:28:02
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:48 am