ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญของสมาคมฯ ได้แก่ นายชูเลิศ จิตเจือจุน และนายวัฒนพงษ์ หิรัญมาลย์ ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบร่วมกับสำนักงานควบคุมอาคาร กรุงเทพมหานคร
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวว่า การพังถล่มเกิดขึ้นกับส่วนของโครงเหล็กนั่งร้านที่รองรับ protection และผ้า mesh sheet ที่ติดตั้งรอบอาคารสำหรับป้องกันเศษวัสดุตกหล่นจากอาคารและอันตรายที่จะเกิดกับผู้ปฏิบัติงาน ไม่ได้เกิดขึ้นกับนั่งร้านที่รองรับการเทคอนกรีต และไม่ได้เกิดขึ้นกับทาวเวอร์เครน รวมทั้งโครงสร้างหลักของอาคารก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
สำหรับสาเหตุของการวิบัติของนั่งร้านที่รองรับ protection เกิดขึ้นกับบริเวณที่เป็นจุดต่อ (Connection) ของคานเหล็กนั่งร้านกับพื้นอาคาร ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณชั้นที่ 6 ซึ่งสลักเกลียวรูดไถลออกมาจากจุดยึด ซึ่งอาจเกิดจากการสูญเสียแรงยึดหน่วง (Bond pull-out failure) แล้วทำให้คานเหล็กร่วงหล่น จากนั้นก็ทำให้โครงสร้างทั้งหมดหล่นตามลงมา
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กำลังวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้สลักเกลียวหลุดออกมาจากจุดยึด ว่าเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง ทั้งนี้ตั้งข้อสมมุติฐานเอาไว้ 4 ประเด็นได้แก่
1. กำลังรับน้ำหนักของสลักเกลียว ทั้งรูปแบบ ขนาด และความยาวระยะฝังว่า เพียงพอหรือไม่
2. ขณะเกิดเหตุมีคนงานขึ้นไปบนนั่งร้านจำนวนกี่คน เพราะเป็นน้ำหนักที่ต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุมีน้ำหนักหรือแรงกระทำอย่างไรบ้าง
3. การออกแบบชิ้นส่วนของนั่งร้านและจุดต่อทั้งจุดต่อระหว่างชิ้นส่วนนั่งร้านเอง และจุดต่อระหว่างนั่งร้านกับโครงสร้างหลัก ว่าได้ครอบคลุมแรงต่างๆ อย่างครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่
4. การประกอบติดตั้งโครงเหล็กนั่งร้าน เป็นไปตามหลักและมาตรฐานทั้งวิศวกรรมหรือไม่และมีการตรวจสอบระหว่างการติดตั้งหรือไม่
ทั้งนี้จะต้องนำแบบนั่งร้าน และ รายการคำนวณ ตลอดจนรายการการตรวจสอบระหว่างการติดตั้งมาพิจารณาประกอบ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และกำหนดวิธีการแก้ไข เพื่อให้บทเรียนแก่สถานที่ก่อสร้างอื่นๆ ด้วย
ข่าวเด่น