การค้า-อุตสาหกรรม
การบินไทยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของปี 2567 พร้อมอัพเดตความคืบหน้ากระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ


 

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการ ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 45,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,820 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 37,008 ล้านบาท หรือ 23.8% โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.94 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ปรับตัวลดลงจาก 77.3% ในงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 76.1%

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 38,636 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 29,289 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 13,550 ล้านบาท คิดเป็น 35.1% ของค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,192 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาส 3 ของปี 2566 ซึ่งมีกำไร 7,719 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,829 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้น ครั้งเดียวรวม 10,119 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,483 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน กำไร 1,546 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 6,655 ล้านบาท
 

 
สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 135,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 115,897 ล้านบาท คิดเป็น 17.2% ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 111,617 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 86,567 ล้านบาท คิดเป็น 28.9% บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 24,193 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปี 2566 ที่กำไร 29,330 ล้านบาท คิดเป็น 17.5% โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 14,233 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้รวม 5,273 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แต่มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินแบบแอร์บัส A380-800 ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 15,221 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 16,342 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 25,056 ล้านบาท

ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการทั้งสิ้น 77 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 57 ลำ โดยบริษัทฯ มีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 2 ลำ ในช่วงเดือนตุลาคม รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 9 ลำ บริษัทฯ มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 13.0 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19.2% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 15.3% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.4% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 80.0% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.7%

ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 263,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 24,752 ล้านบาท หรือ 10.4% หนี้สินรวมจำนวน 291,684 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 9,551 ล้านบาท หรือ 3.4% ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 27,941 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 15,201 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำที่มีระยะเวลาที่ครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดภายใน 1 ปี 82,587 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2567

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ ได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3,531 ล้านบาท

บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีเป้าหมายให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลายเป็นบวกซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการประกอบด้วย (ก) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 37,828 ล้านบาท (ข) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 12,500 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) และ (ค) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 4,845 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นทุนโดยความสมัครใจ ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ปรากฏชื่ออยู่ในฐานข้อมูลบริษัทฯ ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2567 สามารถตรวจสอบสิทธิในการแปลงหนี้เป็นทุนผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่ https://ir.thaiairways.com/ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ถึง 21 พฤศจิกายน 2567

ปัจจุบันแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคาดว่าเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะสามารถแสดงเจตนาการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการทั้งในส่วน Voluntary Conversion และหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักได้ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ถึง 21 พฤศจิกายน 2567 ภายหลังจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และ ร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ โดยเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถแสดงเจตนาการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้ โดยวิธีการ (ก) กรอกรายละเอียดในใบแสดงเจตนาใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน (Hard Copy) ผ่านสำนักงานใหญ่ของ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย และผ่านสำนักงานใหญ่หรือสาขาทั่วประเทศของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือ (ข) แสดงเจตนาใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนผ่านระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ด้วยระบบ Money Connect by Krungthai ผ่านทาง Krungthai NEXT Application สำหรับเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการประเภทบุคคลธรรมดาเท่านั้น ทั้งนี้ เจ้าหนี้สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ได้ในส่วนที่ 4 ของหนังสือชี้ชวนที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต.(https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=652590&lang=th)

นอกจากนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น (รวมทั้งหุ้นที่เหลือจาก Voluntary Conversion (หากมี)) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ พนักงานของบริษัทฯ และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) (ตามลำดับ) โดยคาดว่าจะดำเนินการเสนอขายให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม ของปี 2567 ภายหลังจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการมีผลใช้บังคับ

ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 โดยบริษัทฯ จะรายงานความคืบหน้าที่สำคัญให้ทราบต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ย. 2567 เวลา : 13:34:36
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:22 am