นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้มอบหมายให้ นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะประธานคณะทำงานจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร และรองประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการ TGC EMC ไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy, Mobility and Climate: TGC-EMC) ระหว่าง 8 หน่วยงาน ร่วมลงนาม ประกอบด้วย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ กรุงเทพมหานคร โดยมี Dr. Ernst Reichel เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยกล่าวต้อนรับ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมเมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท กรุงเทพฯ
รองเลขาธิการ สศก. เปิดเผยว่า สำหรับโครงการ TGC-EMC ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนในภาคพลังงาน อุตสาหกรรม และการขนส่ง ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ผ่านการบูรณาการการทำงานของ 5 กลุ่มงาน ได้แก่ 1) กลุ่มงานพลังงานชีวมวล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2) กลุ่มงานพลังงานหมุนเวียน โดยกระทรวงพลังงาน 3) กลุ่มงานคมนาคมขนส่ง โดยกระทรวงคมนาคม 4) กลุ่มงานการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม โดยกระทรวงพลังงาน และ 5) กลุ่มงานการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2570 ดำเนินงานโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย ร่วมกับอีกทั้ง 7 หน่วยงานที่ MOU ในการดำเนินโครงการฯ
ในส่วนของกลุ่มงานพลังงานชีวมวล ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ เป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานร่วมกัน ได้แก่ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง GIZ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในรูปแบบคณะทำงานจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร
ทั้งนี้ โครงการฯ กำหนดผลผลิต (Output) 3 ผลผลิตหลัก ได้แก่ 1) ทางเลือกด้านเทคโนโลยีในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 2) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และ 3) ผลการศึกษา/การดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง (City Lab) โดย สศก. ในฐานะผู้ประสานงานหลักของโครงการ จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดำเนินกิจกรรม City lab ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องการแก้ไขปัญหาด้านการเผาในพื้นที่เกษตร สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากการปลูกข้าวและอ้อยโรงงาน กระจายรายได้ไปสู่เกษตรกร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มลพิษจากการเผาทางการเกษตร และให้ภาคเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
ข่าวเด่น