1. ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 และจะกลับเข้าทำเนียบขาวได้อีกครั้ง ตามการคาดการณ์ของสำนักต่าง ๆ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง นอกจากว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบขาดลอยได้คะแนนสูงกว่ารองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส คู่แข่งจากพรรค Democrats แล้ว พรรค Republicans ของทรัมป์ก็ยังครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอีกด้วย (Republicans Sweep)
ทรัมป์มีแนวนโยบายกีดกันการค้าที่จะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเน้นความมั่นคงด้านพลังงานมากกว่าช่วยลดโลกร้อน นโยบายสำคัญที่ทรัมป์เคยกล่าวไว้ตอนหาเสียง เช่น (1) ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก 60 pp. (percentage point) และสินค้าประเทศอื่น 10 pp. (2) กีดกันคนต่างชาติอพยพเข้าสหรัฐฯ โดยจะห้ามและขับไล่ผู้ข้ามแดนผิดกฎหมาย จำกัดการข้ามแดนถูกกฎหมาย และชะลอการอนุมัติวีซ่าเข้าสหรัฐฯ (3) ให้พันธมิตรสหรัฐฯ พึ่งพาตนเองด้านกำลังทหารมากขึ้น โดยจะลดเงินสนับสนุนของสหรัฐฯ ในการป้องกันประเทศของยูเครน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ (4) เน้นความมั่นคงด้านพลังงานก่อนการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยจะยังสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันต่อไป และ (5) ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและผู้มีฐานะมั่งคั่ง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลการคลังและต้องก่อหนี้มากขึ้น
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาแบบ Republicans Sweep เช่นนี้ เอื้อให้ทรัมป์สามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ได้เต็มที่ (แม้ในความเป็นจริง ทรัมป์อาจใช้นโยบายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองกับประเทศต่าง ๆ และอาจไม่ได้จะดำเนินนโยบายเหล่านี้ เต็มรูปแบบก็ตาม) ซึ่งจะส่งผลลบต่อประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ และสร้างความไม่แน่นอนต่อโลกมากขึ้น
SCB EIC ได้วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อเศรษฐกิจโลกและไทย โดยอาศัยสมมติฐานชุดนโยบายของสหรัฐฯ ตามการวิเคราะห์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในรายงาน World Economic Outlook (WEO) รอบเดือน ต.ค. 2024 มาใช้ในการคำนวณผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าและการลงทุน เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเตรียมความพร้อมในการ วางแผนรับมือกับผลกระทบและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันสถานการณ์
2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
IMF (WEO Oct24) กำหนดสมมติฐานนโยบายทรัมป์ 2.0 และศึกษาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ผ่าน 5 ช่องทาง คือ
(1) นโยบายขึ้นภาษีนำเข้า : สหรัฐฯ ยุโรป และจีน เพิ่มภาษีนำเข้าระหว่างกัน 10 pp. และสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น 10 pp. โดยประเทศอื่นจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กลับอีกด้วย สินค้าที่ได้รับผลกระทบครอบคลุม 25% ของมูลค่าการค้าโลก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 6% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก โดยจะเริ่มส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลกตั้งแต่กลางปี 2025 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงรวม 0.3 pp. ในช่วงปี 2025-2030
(2) ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก : นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม โดยการลงทุนในสหรัฐฯ และยุโรปจะลดลงราว 4% เทียบกับกรณีไม่มีนโยบายทรัมป์ชุดนี้ ขณะที่จีนและประเทศอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบราวครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ สำหรับเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบทางลบตั้งแต่กลางปี 2025 และผลจะทยอยหมดไปในปี 2027
(3) นโยบายลดภาษี : สหรัฐฯ ต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล หรือ Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) ไปอีก 10 ปีจนถึงปี 2034 หลังมาตรการเดิมจะหมดอายุในช่วงกลางปี 2025 ซึ่งจะทำให้ภาษีเงินได้จากธุรกิจสหรัฐฯ ลดลงรวม 4% ของ GDP ในช่วงเวลาดังกล่าว ผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจโลกจะเป็นบวกรวม 0.1 pp. ในช่วงปี 2025-2030 ตามผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสำคัญ แม้เศรษฐกิจประเทศอื่นจะได้รับผลกระทบทางลบ เพราะสูญเสียความสามารถในการแย่งชิงเม็ดเงินลงทุนโดยเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ
(4) นโยบายกีดกันผู้อพยพ : สหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มกีดกันผู้อพยพมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2025 ส่งผลให้กำลังแรงงานสหรัฐฯ และยูโรโซนลดลง 1% และ 0.75% ภายในปี 2030 ตามลำดับ เนื่องจากผู้อพยพเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปในช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกรวม 0.2 pp. ในช่วงปี 2025-2030
(5) ภาวะการเงินโลกตึงตัวขึ้น : ภาวะการเงินโลกมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น จากผลกระทบทางลบและความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะปรับสูงขึ้นตามเงินเฟ้อและหนี้ภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนประเทศต่าง ๆ สูงขึ้น โดย (1) Sovereign premiums ในตลาดเกิดใหม่ (ยกเว้นจีน) เพิ่มขึ้น 50 bps (basis point) (2) Corporate premiums เพิ่มขึ้น 50 bps ในจีนและประเทศพัฒนาแล้ว และเพิ่มขึ้น 100 bps ในประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ และ (3) Term premiums เพิ่มขึ้น 40 bps ในสหรัฐฯ และ 25 bps ในยูโรโซน ทั้งนี้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะเป็นลบแต่ผลจะเริ่มทยอยหมดไปในปี 2028
จากผลศึกษาของ IMF ข้างต้น เศรษฐกิจโลกจะเริ่มได้รับผลลบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ตั้งแต่ปี 2025 หลังทยอยประกาศชุดนโยบาย เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเติบโตลดลง 0.8 pp. สำหรับปี 2026 จะลดลง 0.4 pp. แต่ในปี 2027 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพิ่มขึ้น 0.2 pp. เทียบกับกรณีไม่มีนโยบายชุดนี้ ตามความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่ทยอยลดลงและปัจจัยฐานต่ำ หากพิจารณาผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางจะพบว่า ชุดนโยบายทรัมป์ 2.0 จะกดดันให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงรวม 0.4 pp. เทียบกับกรณีไม่มีนโยบายชุดนี้ (รูปที่ 1 ซ้าย) โดย SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเป็นลบทั้งในปีหน้าและในระยะปานกลาง เนื่องจากโลกจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันและความผันผวนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรง ขณะที่ผลบวกของนโยบายลดภาษี TCJA จะเกิดขึ้นแค่ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเงินเฟ้อโลกยังไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าผลสุทธิระหว่างแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานสูงขึ้น (+) และแรงกดดันอุปสงค์โลกชะลอตัว (-) (รูปที่ 1 ขวา)
สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบสุทธิของนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีหน้ามีแนวโน้มเป็นลบ แต่นโยบายยังมีความไม่ชัดเจนสูง ขึ้นกับผลสุทธิของความแตกต่างของระยะเวลาและขนาดของการใช้นโยบายที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ (เช่น นโยบายลดภาษี TCJA) และนโยบายที่จะเป็นผลลบเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ (เช่น การขึ้นภาษีนำเข้า การกีดกันผู้อพยพ) รวมถึงมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศต่าง ๆ อีกทั้งชุดนโยบายยังมีไม่ความไม่แน่นอนในด้านระยะเวลาอยู่บ้าง ในเบื้องต้นประเมินว่าโดยนโยบายเหล่านี้จะมีแนวโน้มเริ่มทยอยส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2025 อย่างไรก็ดี ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะปานกลางค่อนข้างชัดว่าจะเป็นลบ นอกจากนี้ ชุดนโยบายทรัมป์จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้นจนอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยได้น้อยลงกว่าแนวโน้มเดิมที่เคยประเมินไว้ และส่งผลกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มเติม (รูปที่ 1 ขวา)
รูปที่ 1 : แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางจะถูกกดดันจากนโยบายทรัมป์ 2.0
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ IMF, Bloomberg, Reuters, Euromonitor, Capital Economics และ Goldman Sachs
3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ผ่านผลกระทบด้านการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ โดย
(1) การส่งออกสินค้า : นโยบายกีดกันการค้าและการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นวงกว้างของสหรัฐฯ ที่กดดันการค้าโลกให้ชะลอลง ส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกไทย จาก (1) สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยจะขยายตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้าหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นกำแพงภาษี และ (2) ภาษีนำเข้าสินค้าจีนไปตลาดสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหา Overcapacity ของจีนที่ยังไม่คลี่คลายในปัจจุบัน ยิ่งทำให้จีนจำเป็นต้องหาตลาดอื่นทดแทน สินค้าจีนจึงมีแนวโน้มทะลักเข้ามาขายตลาดอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะไทย ส่งผลกระทบทางอ้อมทำให้ผู้ผลิตไทยเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น และยิ่งกดดันให้ภาคการผลิตไทยฟื้นช้า SCB EIC ประเมินมูลค่าส่งออกไทยในปี 2025 จะลดลงราว 0.8 - 1 pp. จากผลกระทบนโยบายกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น
(2) การลงทุน : ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามนโยบายการค้าของทรัมป์ที่ยังไม่ชัดเจน อาจทำให้ภาวะการลงทุนซบเซาลง นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจน ทำให้การย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยจึงอาจยังไม่เกิดขึ้นในระยะสั้นหรือเป็นไปได้ช้า รวมถึงความเสี่ยงกดดันการลงทุนจะมีมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะการย้ายฐานการลงทุนจากสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ตามนโยบายกีดกันของสหรัฐฯ ที่ต้องการดึงการลงทุนกลับไปสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน SCB EIC ประเมินการลงทุนภาคเอกชนไทยในปี 2025 จะลดลงราว 0.4 – 0.5 pp. จากความไม่แน่นอนของการค้าและการลงทุนโลกที่เพิ่มขึ้น
ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกดดันให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2025 ขยายตัวต่ำลงจากแนวโน้มเดิม สาเหตุหลักจากการส่งออกไทยถูกกดดันจากปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง และการลงทุนในไทยที่ยังไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากต่างชาติได้เต็มที่ โดย SCB EIC ได้ประเมินผลกระทบนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อเศรษฐกิจไทยผ่านแบบจำลองที่เชื่อมโยงผลกระทบเศรษฐกิจโลกตามผลศึกษาของ IMF (Oct24) สู่ช่องทางหลักของเศรษฐกิจไทย พบว่า การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมา เศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะลดลงราว 0.5 pp. เทียบกับแนวโน้มเดิมก่อนรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 : เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีทิศทางเติบโตชะลอลงจากนโยบายทรัมป์ 2.0 เทียบกับแนวโน้มเดิม
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ IMF
แม้นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะการกีดกันการค้าและลงทุนจะกดดันให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวต่ำลง แต่ในระยะปานกลาง SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบของนโยบายกีดกันระหว่างประเทศในมิติต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้น ไทยอาจได้รับประโยชน์ จากรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป โดยกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันจะพึ่งพาการค้าระหว่างกันลดลงและหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น หากประเทศไทยสามารถรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกได้ อาจจะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น (อ่านผลศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ SCB EIC In focus : คว้าโอกาสอุตสาหกรรมไทย ในวันที่โลกแบ่งขั้ว (Decoupling) รุนแรงขึ้น)
นโยบายของประเทศไทยในการเตรียมรับมือโลกที่กำลังแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นภายใต้ทรัมป์ 2.0 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนโยบายเร่งด่วนในระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาการแข่งขันรุนแรงจากสินค้านำเข้าจากจีนที่จะเข้ามาตีตลาดไทยได้มากขึ้น และนโยบายรับมือในระยะยาวเพื่อเตรียมปรับตัวคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้น
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trump-081124
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ข่าวเด่น