นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 19 บัญญัติให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในประเภทหรือมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างตามที่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.) ประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา หากประสงค์จะเข้ายื่นข้อเสนอกับหน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจัดให้มีนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันการทุจริตและสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คณะกรรมการ ค.ป.ท. ได้ยกเลิกประกาศฉบับเดิมและได้ออกประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต เรื่อง วงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างและมาตรฐานขั้นต่ำของนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่ผู้ประกอบการต้องจัดให้มี ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 25 กันยายน 2567 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 เมษายน 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีการดำเนินงานในหลายประเด็น อาทิ
1. กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้ายื่นข้อเสนอในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีวงเงินเกิน 300 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจัดให้มีมาตรฐานขั้นต่ำของนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมยื่นแบบตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้ายื่นข้อเสนอกับหน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเกิน 300 ล้านบาทขึ้นไป และหลักฐานอ้างอิง เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นข้อเสนอในโครงการดังกล่าว
2. กรณีผู้ประกอบการมี ISO 37001 ระบบการจัดการต่อต้านการให้และรับสินบน (Anti - Bribery Management Systems) หรือการรับรองจากแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC Certified) ผู้ประกอบการสามารถใช้เอกสารดังกล่าวแทนการกำหนดนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างตามแนวทางและวิธีการที่คณะกรรมการ ค.ป.ท. กำหนดได้
3. กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องทบทวนมาตรฐานขั้นต่ำของนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อยทุก 3 ปี
4. มาตรฐานขั้นต่ำของนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการรับรองมาตรฐานต้องมีผลครอบคลุมตั้งแต่วันเข้ายื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐจนถึงวันที่ได้รับเงินค่าจ้างงวดสุดท้าย ทั้งนี้ หากมาตรฐานขั้นต่ำหรือการรับรองมาตรฐานดังกล่าวไม่ครอบคลุมช่วงเวลาที่กำหนด ให้หน่วยงานของรัฐแจ้งให้ผู้ประกอบการนำแบบตรวจสอบข้อมูลฯ และหลักฐานอ้างอิงฉบับใหม่มามอบให้แก่หน่วยงานของรัฐก่อนวันที่แบบตรวจสอบข้อมูลฉบับเดิมจะครบกำหนดวันที่มีผลบังคับใช้
5. กรณีผู้ประกอบการไม่ดำเนินการตามข้อ 4 ให้หน่วยงานของรัฐแจ้งให้คณะกรรมการ ค.ป.ท. ทราบภายใน 30 วันทำการ นับแต่วันที่จ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้าย เพื่อให้คณะกรรมการ ค.ป.ท. พิจารณาดำเนินการต่อไป
“กรมบัญชีกลางมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินงานตามประกาศฉบับนี้ นอกจากจะช่วยยกระดับการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการป้องกันการทุจริตของประเทศให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดประกาศฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.cgd.go.th หัวข้อ “ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” หัวข้อย่อย “มติ/หนังสือเวียน” หรือตาม QR Code นี้ และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองความร่วมมือและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง โทร. 0 2127 7151 Facebook : ข้อตกลงคุณธรรม-Integrity Pact กรมบัญชีกลาง
ข่าวเด่น