“กลุ่มน้ำตาล เคไอ” จับมือ “ธนาคารกรุงไทย” เดินหน้าพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ผ่าน สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (ESG) เพื่อก้าวสู่องค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
นายประเสริฐ เสถียรถิระกุล ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มน้ำตาล เคไอ เปิดเผยว่า ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาล มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเติบโตที่ยั่งยืน อ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นที่น่ายินดียิ่งที่ปัจจุบันรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมสินเชื่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร เพื่อลดภาระต้นทุนการผลิต สนับสนุนการตัด “อ้อยสด” แทน “อ้อยเผา” มุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน สนับสนุนพลังงานสะอาดไร้มลพิษจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย, การผลิตเอทานอล และการผลิตไบโอก๊าซ ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบจากอ้อยเป็นหลัก
ภาคอีสานเป็นพื้นที่เหมาะสมแก่การปลูกอ้อยให้ได้คุณภาพความหวานสูง แต่ยังต้องเพิ่มศักยภาพด้านปัจจัยการผลิต โดยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การลดต้นทุนการเพาะปลูก การเพิ่มคุณภาพของผลผลิต และการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยว ตัดอ้อยสดไม่เผาใบ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 อนุรักษ์ดินและสิ่งแวดล้อม จึงจะทำให้อาชีพการปลูกอ้อยมีความยั่งยืนมั่นคง สามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการลด PM 2.5 จากการเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าสู่โรงงาน โดยวางแผนร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย เพื่อลดการเผาอ้อย โดยกลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2045 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2060 ซึ่งการได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญ ที่สนับสนุนให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายสุรธันว์ คงทน ประธานผู้บริหาร Wholesale Banking ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ ได้มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ล่าสุด ธนาคารได้ร่วมกับกลุ่มน้ำตาลเคไอ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยการ สนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (ESG) สำหรับจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร อาทิ รถตัดอ้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน พร้อมลดฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศจากการเผาอ้อยในการเก็บเกี่ยว อีกทั้ง ธนาคารได้กำหนดตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (Key Performance Indicator) และเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets) เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณารายปีในการลดต้นทุนของธุรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับการสนับสนุนการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending Guideline) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าสู่โรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อม บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอนาคต ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ข้อ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ “กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน”
ข่าวเด่น