แบงก์-นอนแบงก์
Scoop: "EXIM BANK" มองโลกแบ่งฝ่าย 2 ขั้ว หลังทรัมป์ชนะ กระทบเศรษฐกิจไทย กดดันบาทอ่อนค่า


EXIM BANK มองสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป หลังโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งว่า โลกจะเกิดการแบ่งฝ่ายออกเป็น 2 ขั้ว หรือ Bipolar World อย่างชัดเจนมากขึ้น จากแนวทางหลัก “America First” ของทรัมป์ ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยเฉพาะการทำ Trade War กับทางจีน และการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เน้นสนับสนุนพลังงานฟอสซิลในสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ที่วางตัวเป็นกลางของบทบาทการเมืองโลก ทั้งความเสี่ยงของการขาดดุลทางการค้ากับจีนมากขึ้น ส่งผลเสียต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทย และกดดันเงินบาทอ่อนค่าจากความเสี่ยงที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะกลับขึ้นมาสูงอีกครั้ง

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้น หลังโดนัล ทรัมป์ ได้คว้าชัยชนะกลับขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งว่า ด้วยนโยบายของทรัมป์ที่ยึดมั่นผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นหลัก หรือ America First นั้น จะมุ่งเน้นให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากที่สุด ทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯมากขึ้น ด้วยการลดภาษีนิติบุคคล จาก 21% เหลือ 15% รวมถึงแผนยืดระยะเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจในประเทศ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการเติบโตขึ้นขานรับนโยบาย 

ส่วนด้านภาคธุรกิจ นโยบายของทรัมป์เองมีการเอื้ออำนวยและส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศนั้นเติบโตเป็นสำคัญ อย่างแนวโน้มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะนโยบายสำคัญอย่างการ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนพลังงานฟอสซิลในประเทศ ด้วยการจ่อถอนตัวออกจาก “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทรัมป์จะยกเลิกการอุดหนุนเรื่องพลังงานสีเขียวซึ่งเป็นนโยบายของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่งผลกระทบต่อการผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทยในทางอ้อมในระยะต่อไป 

สำหรับการตั้งกำแพงภาษีนำเข้า ที่มีนโยบายเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนที่ระดับ 60% (และเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ที่ระดับ 10%) นับเป็นการผลักดันให้เกิด Trade War หรือสงครามทางการค้ารอบใหม่ ไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยมากนัก เนื่องจากโอกาสการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปสหรัฐฯ แทนที่สินค้าจีนยังมีไม่มาก (สินค้าอุปโภคบริโภคที่ประชาชนชาวอเมริกาใช้นั้นมีสัดส่วนเป็นสินค้านำเข้าที่สูงมาก ซึ่ง 90% ของสินค้าที่ใช้มาจากซัพพลายเออร์รายใหญ่ของจีนทั้งหมด) เพราะยังมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำกว่าประเทศอื่น อีกทั้งสินค้าจีนที่ตีตลาดสหรัฐฯไม่ได้แล้ว มีโอกาสที่จะทะลักเข้าสู่ประเทศไทยแทน ทำให้เกิดการขาดดุลทางการค้ากับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ด้วยการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 2 ฝั่ง ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีความเข้มข้นมากขึ้น จะผลักดันให้เกิดกระแสการลงทุนที่ย้ายไปลงทุนในประเทศที่วางตัวเป็นกลาง หรือ Conflict-free Countries แต่จะได้รับแรงกดดันทั้งการบังคับเลือกข้าง และเสี่ยงต่อการตั้งมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมต่อจากนี้

ทั้งนี้ ด้วยนโยบายทั้งหมดของทรัมป์ที่ขับเคลื่อนด้วยวิถีแบบ “Neo-isolationism” หรือการมุ่งเน้นประโยชน์ของสหรัฐฯได้รับเป็นหลัก อาจส่งผลให้สหรัฐฯ มีการขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้น โดยมาตรการการปรับขึ้นภาษีนำเข้า ส่งผลให้ต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น หลังการขึ้นภาษีนำเข้า ที่ของอุปโภคบริโภคมีราคาแพงขึ้น เป็นผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน แม้จะลดภาษีเงินได้ก็ตาม สอดคล้องกับทาง JPMorgan ธนาคารระดับโลกที่วิเคราะห์ว่า การขึ้นภาษีนำเข้าบวกกับการลดภาษีเงินได้ CIT ตามนโยบายของทรัมป์ อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่ากรณีที่ไม่มีภาษีดังกล่าวประมาณ 2.5% ผลกระทบนี้เอง อาจสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับสูงในระยะเวลาที่นานขึ้น อ้างอิงตามถ้อยแถลงล่าสุดของประธาน Fed ในการประชุมล่าสุดที่ส่งสัญญาณว่า “Fed ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย” ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี กลับมาปรับตัวสูงขึ้น กดดันค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าลงในโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง

 
ดังนั้นทาง EXIM BANK จึงนำเสนอให้ภาคธุรกิจไทยยังต้องรักษาความสมดุลเป็นกลางทางการค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ และจีน ด้วยกลยุทธ์สำคัญอย่าง การรุกตลาดหรือพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ในประเทศที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ทั้งรูปแบบของการค้าระหว่างประเทศและการขยายการลงทุน ส่วนประเด็นสิ่งแวดล้อม แนะนำว่าให้รักษาแนวทางการดำเนินงานที่รักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้ ทั้งการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเดินหน้าดำเนินงานเพื่อลดคาร์บอนต่อไป จะช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษาตำแหน่งในห่วงโซ่อุปทานยุคต่อไปได้อย่างมั่นคง ส่วนการจัดการความผันผวนต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าเงิน ผู้ส่งออกควรทำ Foreign Exchange Forward Contract เพื่อป้องกันความผันผวน รวมถึงยังควรพิจารณาทำประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงด้านการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการดำเนินงานของทรัมป์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 พ.ย. 2567 เวลา : 17:35:54
12-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 12, 2025, 6:57 am