ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “มีใครเข้าใจประเด็นโต้แย้งเรื่อง MOU 44 และเกาะกูด บ้าง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเข้าใจของประชาชนในประเด็นการโต้แย้ง MOU 44 และสถานการณ์ของเกาะกูด การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามความเข้าใจของประชาชนในประเด็นการโต้แย้งเกี่ยวกับ MOU 44 และสถานการณ์ ของเกาะกูด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 58.86 ระบุว่า ไม่เข้าใจเลย รองลงมา ร้อยละ 19.31 ระบุว่า ไม่ค่อยเข้าใจ ร้อยละ 15.65 ระบุว่า ค่อนข้างเข้าใจ และร้อยละ 6.18 ระบุว่า เข้าใจมาก
เมื่อสอบถามผู้ที่ระบุว่ามีความเข้าใจมากและค่อนข้างเข้าใจในประเด็นการโต้แย้งเกี่ยวกับ MOU 44 และสถานการณ์ของเกาะกูด (จำนวน 288 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับความไว้วางใจต่อรัฐบาลว่าจะสามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้หากมีการเจรจา MOU 44 กับรัฐบาลกัมพูชา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 33.68 ระบุว่า ไม่ไว้วางใจเลย รองลงมา ร้อยละ 29.17 ระบุว่า ไม่ค่อยไว้วางใจ ร้อยละ 24.65 ระบุว่า ค่อนข้างไว้วางใจ และร้อยละ 12.50 ระบุว่า ไว้วางใจมาก
สำหรับความต้องการที่จะเข้าใจข้อโต้แย้ง MOU 44 และสถานการณ์ของเกาะกูดให้ชัดเจนมากขึ้น พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.22 ระบุว่า ไม่ต้องการเลย รองลงมา ร้อยละ 26.72 ระบุว่า ต้องการมาก ร้อยละ 16.64 ระบุว่า ค่อนข้างต้องการ และร้อยละ 15.42 ระบุว่า ไม่ค่อยต้องการ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการมีแนวคิดความเป็น “ชาตินิยม” ของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.15 ระบุว่า มีความเป็น “ชาตินิยม” มาก รองลงมา ร้อยละ 28.24 ระบุว่า ความเป็น “ชาตินิยม” ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ร้อยละ 15.04 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเป็น “ชาตินิยม” ร้อยละ 7.33 ระบุว่า ไม่มีความเป็น “ชาตินิยม” เลย ร้อยละ 6.26 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเป็น “ชาตินิยม” และร้อยละ 2.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.86 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.37 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.94 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.24 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.81 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 97.48 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 1.53 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.99 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 34.96 สถานภาพโสด ร้อยละ 62.52 สมรส และร้อยละ 2.52 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 0.92 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 20.99 จบการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 37.18 จบการศึกษามัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.94 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.24 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.73 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 8.24 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.96 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.76 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.60 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.25 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.54 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.65 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 20.69 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 3.74 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 17.01 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 31.60 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.85 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.43 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 2.14 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001-50,000 บาท ร้อยละ 1.45 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 50,001-60,000 บาท ร้อยละ 0.31 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 60,001-70,000 บาท ร้อยละ 0.08 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 70,001-80,000 บาท ร้อยละ 0.38 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 80,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.32 ไม่ระบุรายได้
ข่าวเด่น