เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบคาดเคลื่อนไหวในระดับต่ำหลังความต้องการใช้น้ำมันโลกยังคงถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ยังคงน่ากังวลอย่างต่อเนื่อง"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 64-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 68-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (18 - 22 พ.ย. 67)
 
ราคาน้ำมันดิบคาดการณ์ว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันโลกยังคงถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ยังคงไม่ตรงที่คาดหวังอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจีนจะมีมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ภายหลังอัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มเป็นขาลงประกอบกับความไม่แน่นอนในสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและจับตานโยบายการคว่ำบาตรอิหร่านที่อาจเข้มข้นมากขึ้นหลังการกลับมาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัล ทรัมป์ 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
 
• ความต้องการใช้น้ำมันโลกยังคงถูกกดดันต่อเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมไปถึงมีการหันไปใช้พลังงานทางเลือกอย่าง LNG ทดแทนน้ำมันดีเซลในรถบรรทุกขนาดใหญ่มากขึ้น โดยล่าสุดโอเปกเปิดเผยรายงานเดือน พ.ย. 67 ปรับลดคาดการณ์การเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกปี 2567 ลง 0.11 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 1.82 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 104.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี 2568 ลง 0.10 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 1.54 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 105.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกเล็กน้อย โดยปี 2567 เพิ่ม 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 0.99 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 103.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี 2568 เพิ่ม 0.01 ล้านบาร์เรลต่อวันมาที่ 1.22 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 104.35 ล้านบาร์เรลต่อวันเช่นเดียวกัน
 
• เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับสภาวะเงินฝืดหลังจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคจีน (CPI) เดือน พ.ย. 67 ชะลอตัวลงสู่ระดับ 0.3% โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ใกล้ระดับ 0% นั้นสะท้อนถึงความต้องการภายในประเทศที่ซบเซาแม้ว่ารัฐบาลจีนได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ต.ค. 67 ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานปรับลดต่อเนื่องติดต่อกัน 25 เดือน โดยปรับลดลงแตะระดับ 2.9% สะท้อนการไม่ฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจีน นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) เผยยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนในเดือนต.ค. 67 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5 แสนล้านหยวนซึ่งปรับลงจากเดือน ก.ย. 67 ที่ระดับ 1.59 ล้านล้านหยวน สะท้อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมานั้นอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ความต้องการสินเชื่อฟื้นตัวได้
 
• ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 2.6% โดยอัตราเงินเฟ้อที่ออกมานี้ปรับขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามแผนที่วางไว้ซึ่งก่อนหน้านี้ปรับลด 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงจับตานโยบาย America First ของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการขับไล่ผู้อพยพ ตลอดจนการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดอาจส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นและอาจทำให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้ซึ่งจะกระทบต่อทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีหน้า
 
• สถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลาง มีแนวโน้มผ่อนคลายลงในช่วงเปลี่ยนผ่านทางอำนาจระหว่ารัฐบาลของนายโจ ไบเดนกับนายโดนัล ทรัมป์ เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลของอิสราเอล รวมถึงชาติต่างๆ ในตะวันออกกลางที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งหมดจะยังคงรอดูท่าทีต่างๆ ของรัฐบาลใหม่ก่อน โดยคาดสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ผ่อนคลายลงนี้จะส่งผลลบต่อตลาดน้ำมันในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบาบของรัฐบาลใหม่ที่จะสนับสนุนอิสราเอลเพิ่มสูงขึ้น ผ่านการสนับสนุนทางด้านทหารในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงการดำเนินนโยบายคว่ำบาตรต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันอิหร่านที่จะมีความเข้มข้นขึ้น
 
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ต.ค. 67 ดัชนีจัดผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน พ.ย. 67 และดัชนีจัดผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ เดือน พ.ย. 67 เศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดุลการค้า เดือน ก.ย. 67 ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน ต.ค. 67 ดัชนีจัดผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน พ.ย. 67 และดัชนีจัดผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ เดือน พ.ย. 67 และเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีของธนาคารกลางจีน (PBoC) เดือน พ.ย. 67
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 – 15 พ.ย. 67)
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดคลายกังวลจากผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคนราฟาเอลที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนซึ่งลดความเสี่ยงที่จะกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็น 14% ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบจีนเดือน ต.ค. 67 ปรับลดลง 9% เทียบปีก่อนหน้าและถือเป็นการปรับลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันหลังดัชนีสกุลเงินสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น กดดันความต้องการใช้น้ำมันดิบจากราคาน้ำมันดิบที่แพงขึ้น และลดทอนความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนผู้ถือสกุลเงินอื่นๆ อย่างไรก็ดี ตลาดจับตานโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ เนื่องจาก โดนัล ทรัมป์ อาจเลือกนายมาร์โก รูบิโอ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ทั้งนี้ นาย มาร์โก รูบิโอมีแนวคิดที่ค่อนข้างเข้มงวดต่อประเทศที่มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯ อาทิ อิหร่าน จีน และคิวบา ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์น่ากังวลมากขึ้น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 8 พ.ย. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 429.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านบาร์เรล
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 พ.ย. 2567 เวลา : 11:50:26
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:18 am